แรงงานกัมพูชา ยันไม่อยากกลับประเทศ แม้พิพาทชายแดนตึงเครียด ขณะผู้ประกอบการ หวั่น กระทบแรงงานขาดแคลน

แรงงานกัมพูชา ยันไม่อยากกลับประเทศ แม้พิพาทชายแดนตึงเครียด ขณะผู้ประกอบการ หวั่น กระทบแรงงานขาดแคลน

80415 มิ.ย. 68 18:19   |     Tum1

แรงงานกัมพูชา ยันไม่อยากกลับประเทศ แม้พิพาทชายแดนตึงเครียด ขณะผู้ประกอบการ หวั่น กระทบแรงงานขาดแคลน

(15 มิ.ย.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทางการกัมพูชาออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่พำนักหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย ทยอยเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ ท่ามกลางความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งยังไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย ในแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า 

"รัฐบาลกัมพูชา พร้อมต้อนรับแรงงานกลับประเทศ ไม่ว่าจะมีเอกสารถูกต้องหรือไม่ และยืนยันจะจัดหางานหรือสร้างอาชีพรองรับ เพื่อให้พลเมืองกลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นคงในประเทศ ท่ามกลางกระแสความกังวลว่าทางการไทยอาจมีมาตรการเข้มงวดต่อแรงงานต่างชาติ หากสถานการณ์ชายแดนยืดเยื้อ"


อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น แรงงานในพื้นที่สมุทรปราการ พบว่าแรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ ยังไม่ต้องการเดินทางกลับประเทศในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานมานาน และมีภาระครอบครัวต้องดูแล

  

นายโต ราย อายุ 42 ปี แรงงานก่อสร้างชาวกัมพูชา ซึ่งทำงานอยู่ที่ไซต์งานในย่านซอยวัดด่านสำโรง อ.เมืองสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ตนอยู่เมืองไทยมานานกว่า 12 ปี เหตุผลหลักคือมีรายได้ดีและเจอนายจ้างที่ดูแลอย่างเป็นธรรม แม้รัฐบาลจะเรียกร้องให้กลับ แต่ตนก็ยังอยากอยู่ทำงานต่อ เพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงครอบครัว พร้อมวิงวอนให้ทั้งสองประเทศหันหน้าพูดคุยกันด้วยสันติ


  

ด้านนายสมศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานชาวกัมพูชาอยู่ในความดูแล 22 คน กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาเป็นกลุ่มที่ขยัน สู้งาน และทำงานด้วยกันมายาวนาน โดยบางคนอยู่ร่วมกันมาต่ำสุดก็กว่า 8 ปี หากแรงงานกลุ่มนี้ต้องกลับประเทศ จะกระทบต่องานแน่นอน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้างที่ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งสองประเทศยุติข้อพิพาทด้วยการเจรจา


  

น.ส.กัญญดากร (สงวนนามสกุล) เจ้าของกิจการร้านแก๊สหุงต้ม ในพื้นที่บางปู สมุทรปราการ กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า แรงงานชาวกัมพูชาที่ร้านมีจำนวน 2 คน ซึ่งต่างเป็นคนขยัน ไม่เกี่ยงงาน แม้จะเป็นแรงงานต่างชาติ แต่ทำงานร่วมกันมาอย่างดี หากจำเป็นต้องให้กลับประเทศ จะเป็นการสูญเสียแรงงานที่ผ่านการฝึกฝนและทำงานได้ดี พร้อมฝากถึงทั้งสองรัฐบาลให้หาทางออกร่วมกัน โดยยึดหลักสันติวิธีและคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน



 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat