“ก่อการครู” จี้ยกเครื่องระบบการเงิน-ลดภาระครู หลังเกิดเรื่องเศร้า
“ก่อการครู” จี้ยกเครื่องระบบการเงิน-ลดภาระครู หลังเกิดเรื่องเศร้า

โครงการก่อการครู มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่อนแถลงการณ์ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกร้อง 4 ข้อ ตรวจสอบข้อเท็จจริง-ยกเครื่องระบบการเงินและพัสดุ-ลดภาระงานของครู-เพิ่มการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต หลังเกิดเหตุเศร้าครูสาวตัดสินใจจบชีวิต เพราะเครียดต้องสอนพร้อมรับผิดชอบการเงิน
(17 มิ.ย. 68) จากกรณีเรื่องเศร้าของ “ครูมัท” ครูหญิงวัย 39 ปี ในพื้นที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง พร้อมเขียนจดหมายระบุถึงปัญหาความเครียดที่เกิดจากต้องรับภาระดูแลการเงินให้โรงเรียนควบคู่กับการสอน โดยที่โรงเรียนก็ไม่มีระเบียบในการบริหารที่ดี ทำให้เกิดความเครียด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ครูสาวเขียนจดหมายถึงกระทรวง ก่อนลาโลก ระบุการทำงานไม่เป็นระบบ
หลังข่าวการเสียชีวิตของครูมัทถูกเผยแพร่ออกไป เพจหรืออินฟลูเอนเซอร์สายการศึกษาหลายคนได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาระงานส่วนที่ไม่ใช่การสอนหนังสือที่ครูในโรงเรียนรัฐต้องแบกรับ
ล่าสุด เพจ ก่อการครู ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ของ โครงการก่อการครู คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ถึงกรณีของครูมัท ระบุว่า
“แถลงการณ์ ข้อเรียกร้องจากเครือข่ายก่อการครูต่อกรณีการสูญเสียบุคลากรทางการศึกษา
เราทุกคนในนามของก่อการครู ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของครูมัท ข้าราชการครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา
การจากไปครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความสูญเสียส่วนบุคคล แต่มันคือสัญญาณเตือนถึงรอยร้าวลึกในระบบการศึกษา ของไทย ระบบที่ผลักภาระงานเกินขอบเขต ระบบที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ระบบที่ปล่อยให้ครู ต้องแบกรับความเสี่ยงโดยลำพัง ทั้งทางใจ กาย และข้อกฎหมาย เหล่านี้ล้วนบีบคั้นให้ครูต้องเจอกับความเครียด ความกดดันจนแทบจะรับไม่ไหว
ข้อความสุดท้ายที่ครูมัทเขียนไว้ สะท้อนเสียงเรียกร้องจากความเจ็บปวดของคนทำงานในระบบที่ไร้ที่พึ่งมันคือเสียงเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง “ฟัง” และ “เปลี่ยน”
ก่อการครูจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมไทย พิจารณาประเด็นต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นธรรม : เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และร่วมกันหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอย
2. ยกเครื่องระบบการเงินและพัสดุในโรงเรียน: กระทรวงศึกษาธิการควรวางระบบการบริหารจัดการ งบประมาณ การเงิน และพัสดุในโรงเรียนใหม่ที่โปร่งใส รัดกุม มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและไม่ปล่อยให้ครูต้องรับผิดชอบทุกอย่างเพียงลำพัง
3. ลดภาระงานครูและเพิ่มบุคลากรสนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญ: โดยเฉพาะงานด้านการเงินและพัสดุที่ซับซ้อนเกินบทบาทของครูผู้สอน ควรจัดหาบุคลากรสนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชีโดยตรง และจัดอบรมพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการบัญชีให้แก่ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
4. จัดตั้งระบบสนับสนุนสุขภาพจิตในโรงเรียน: ครูไม่ควรต้องต่อสู้กับความเครียดและความโดดเดี่ยวเพียงลำพัง ควรมีระบบดูแลสุขภาพจิตที่เข้าถึงง่าย และไม่ตีตราเพื่อให้ครูและบุคลากรสามารถ เข้าถึงการปรึกษาและได้รับการช่วยเหลือได้ทันการณ์
ก่อการครูขอยืนยันว่า จะร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียบุคลากร ทางการศึกษาด้วยเหตุผลที่ไม่ควรเกิดขึ้นเช่นนี้อีก เราเชื่อมั่นว่า การศึกษาที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม และทำงานในระบบที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านที่อำเภอจอมทองเสียชีวิต 2 ราย หลังกินลาบดิบจนหูดับ พบป่วยอีกหลายคน สสจ.เชียงใหม่ ย้ำกินเนื้อหมูดิบเสี่ยงถึงตาย
