มะเร็งเต้านม ภัยเงียบคุกคามชีวิตผู้หญิง

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบคุกคามชีวิตผู้หญิง

60707 ต.ค. 67 19:24   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

7 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันมะเร็งเต้านมสากล ภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ข่าวเวิร์คพอยท์23 ขอเชิญชวนหญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองประจำปี เพราะมะเร็งยิ่งพบไว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้มากที่สุด

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

มะเร็งเต้านมยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ตัวเลขผู้ป่วยยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) เผยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะอยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี มากที่สุด ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากที่สุด

 

สปสช. ได้มีนโยบายสิทธิรักษาพยาบาลที่เน้นการตรวจคัดกรอง ให้กับกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค และยังมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองได้ตามช่วงอายุ โดยรับบริการตรวจได้ที่หน่วยปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ ที่ลงทะเบียนไว้

 

ผู้ที่มีความเสี่ยง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง หรือรับการคัดกรองโดยแพทย์ หากอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์ทุก 1-2 ปี ข้อสังเกต ความเสี่ยง และวิธีรักษาจะเป็นอย่างไร ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จะพาไปดูกัน

 

สังเกตด้วยตนเอง

  • ผิวเป็นรอยแดง
  • เจ็บ ร้อน บวม
  • มีก้อนแข็งอยู่ภายใน
  • ผิวเป็นรอยบุ่ม ผิวเปลือกส้ม
  • หัวนมอักเสบ แห้งเป็นเกล็ด (ข้างเดียว)
  • เป็นแผล เป็นฝี

 

ความเสี่ยงของการเกิดโรค

  • น้ำหนักตัวมากเกินไป
  • กินอาหารไม่มีประโยชน์
  • ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีความเครียด พักผ่อนน้อย
  • ฮอร์โมนผิดปกติ
  • พันธุกรรม

 

วิธีการรักษา

  • ผ่าตัดรักษา
  • ให้ยารักษา
  • รังสีรักษา

 

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยปัจจัยมากมาย ทั้งอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันที่ดีคือสำรวจความผิดปกติของร่างกายและเต้านมอย่างสม่ำเสมอ หากพบสัญญาณเตือน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หากมีข้อสงสัยในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) โทร สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


 

อ้างอิง:

https://www.nhso.go.th/news/4304

https://www.facebook.com/share/p/MWarMRwjHwRx4w5q/

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง