วันผู้ลี้ภัยโลก UNHCR จัดกิจกรรมเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย 10 ประเทศ

วันผู้ลี้ภัยโลก UNHCR จัดกิจกรรมเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย 10 ประเทศ

54826 มิ.ย. 68 09:11   |     สุริตะ

UNHCR จัดกิจกรรมเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกนำเสนอเมนูอาหารกว่า 10 ประเทศผู้ลี้ภัย

(20 มิ.ย.68) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จัดงานวันผู้ลี้ภัยโลกในประเทศไทย ผ่านเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัยหรือ Refugee Food Festival โดยเชื่อว่า อาหารจะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ลี้ภัย โดยนำเสนอเมนูจาก 10 ประเทศที่ผู้ลี้ภัยจากมา อาทิ ซูดาน ยูเครน ซีเรีย และอัฟกานิสถาน เป็นต้น โดยหน่วยงานของรัฐบาลไทย สถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพ หน่วยงานต่างๆขององค์การสหประชาชาติ และภาคเอกชน ได้รวมตัวกันสนับสนุนและตอกย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ลี้ภัย

.

กิจกรรมวันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้พลัดถิ่นสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนของผู้คนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นสูงที่สุด ซึ่งสาเหตุหลักของการพลัดถิ่นยังคงเป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่ กิจกรรมในกรุงเทพได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของ UNHCR จากสำนักงานใหญ่ในเมืองเจนีวา เข้าร่วมงาน

.

“วันผู้ลี้ภัยโลกไม่ได้เป็นเพียงวันที่เราร่วมระลึกถึงเท่านั้น แต่เป็นวันที่เราต้องร่วมลงมือทำ รับฟัง และสร้างพื้นที่ในชุมชนเพื่อให้ทุกคนรู้สึกได้รับการต้อนรรับ ปลอดภัย และมีคุณค่า” นายราอูฟ มาซู ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) “สิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการคือโอกาสที่จะได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และเมื่อได้รับโอกาส พวกเขาจะกลายเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าในสังคม สร้างความเจริญ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง”

นอกจากเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย ได้ เชิญเชฟ และร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ร่วมแคมเปญ Flavors of Hope for UNHCR นำเสนออาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยที่เสริฟภายในร้านตลอดเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากหลายภาคส่วน 

ตอกย้ำถึงการยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นผ่าน อาหาร ที่ในปีนี้ UNHCR ได้นำมาเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เข้าถึงผู้ลี้ภัยได้ง่ายขึ้น 

.

“ผัดผักกาดหอมกับซอสกุยฉ่ายขาว” เป็นเมนูที่ตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่ต้องการให้ผู้ลี้ภัยกลับมามีความหวังอีกครั้งหลังจากผ่านความท้าทายที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต นอกจากจะเป็นเมนูที่ให้ความสบายใจแล้ว เมนูนี้ยังถูกเลือกมาอย่างตั้งใจด้วยคุณสมบัติทางโภชนาการและความหมายเชิงสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งสื่อถึงความยืดหยุ่น การเริ่มต้นใหม่ และการเริ่มต้นอันเป็นมงคล อาหารจานนี้ปรุงอย่างนุ่มนวลและเสิร์ฟพร้อมซอสกุยฉ่ายขาวรสละมุน” เชฟแพม พิชญา สุนทรญาณกิจ หนึ่งในร้านอาหารที่ร่วมแคมเปญ Flavors of Hope for UNHCR“ ในฐานะเชฟเชื่อว่าอาหารไม่เพียงแต่เป็นอาหารบำรุงร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้คนด้วย แพมต้องการส่งสารแห่งความห่วงใย ความรัก และการเยียวยาผ่านอาหารจานนี้”

.

ความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนผ่านเทศกาลอาหารในปีนี้ แสดงถึงพลังแห่งการแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ลี้ภัย แสดงถึงการยืนหยัดเคียงข้างพวกเขาในวันที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก 

.

ทุกท่านสามารถร่วมลิ้มรส และสัมผัสอาหารจาก 10 ประเทศที่ผู้ลี้ภัยจากมา ภายในงานเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย Refugees Food festival ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2568 บริเวณชั้น 1 โซน Beacon 3 (ใกล้ร้าน POLO RALPH LUAREN) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

.

ร่วมถึงสนับสนุนแคมเปญ Flavours of Hope ตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนกรกฎาคม (หรือติดตามได้ที่สื่อประชาสัมพันธ์ของแต่ละร้าน) ได้ที่ร้าน

  • ร้านอาหารโบ.ลาน 
  • ร้านอาหารข้าวสารเสก 
  • ร้าน JianCha สาขา Central World / Dragon Town / Mega Bangna / Siam Discovery / Athenee Tower 
  • ร้านโต๊ะแดง บ้านอาจ้อ จังหวัดภูเก็ต
  • ไอศกรีม Buono

.

สืบเนื่องจากการตัดงบประมาณอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อองค์กรด้านมนุษยธรรมทั่วโลก รวมถึง UNHCR การจัดกิจกรรมวันผู้ลี้ภัยโลกจึงเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ การมอบพื้นที่จัดงาน รวมถึงการสนับสนุนด้านสิ่งของและการเงิน UNHCR จึงขอขอบคุณผู้สนับสนุนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพัฒนา, spicydisc, ไอศกรีม Buono, ร้านโบ.ลาน, ร้านข้าวสารเสก, ร้านโต๊ะแดง บ้านอาจ้อ  

เรื่องราวอาหารจาก 10 ประเทศ ในเทศกาลอาหารผู้ลี้ภัย เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก

1. ปากีสถาน

ซาโมซา ขนมอบรูปสามเหลี่ยมที่ชาวปากีสถานชื่นชอบซึ่งอัดแน่นไปด้วยส่วนผสมที่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ 

ถือเป็นวัฒนธรรมที่ล้ำลึกสำหรับชาวปากีสถาน ซาโมซ่าโดยทั่วไปทำจากแป้งสาลีบางๆ แล้วยัดไส้ด้วยมันฝรั่ง ถั่วลันเตา หัวหอม และบางครั้งก็มีเนื้อสับ ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ เช่น ยี่หร่า ผักชี และพริก สำหรับชาวปากีสถาน การทำซาโมซ่าไม่ใช่แค่การทำอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อแบ่งปันรสชาติบ้านเกิด และสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง

.

2. อิรัก

ทาจีนเนื้อของประเทศอิรัก เป็นสตูว์ที่ปรุงด้วยไฟอ่อนๆ มักทำจากเนื้อแกะหรือเนื้อวัว ผัก และเครื่องเทศรสเข้มข้น เช่น อบเชย ขมิ้น และยี่หร่า เป็นอาหารที่ชื่นชอบในครัวเรือนของชาวอิรัก สำหรับชุมชนชาวอิรัก การเตรียมทาจีนเป็นวิธีหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีของครอบครัว อาหารชนิดนี้ทำให้เกิดการรวมตัวกัน โดยเฉพาะในงานสังสรรค์และงานเฉลิมฉลองทางศาสนา ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน

.

3. ศรีลังกา

เป็นอาหารยอดนิยมของชาวศรีลังกา โดยเฉพาะตามชายฝั่งทะเล ราลวาดะมีรสชาติกรอบอร่อย ในขณะที่มุตตะบอนดาห่อไข่ต้มด้วยแป้งรสเผ็ดและนำไปทอดจนสุกพอดี สำหรับชุมชนชาวศรีลังกา อาหารเหล่านี้มีความหมายทางอารมณ์และวัฒนธรรม การแบ่งปันของอาหารดั้งเดิมเหล่านี้ช่วยรักษาเอกลักษณ์ และเชื่อมโยงกับรากเหง้า และรักษาความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและชุมชนผ่านอาหาร

.

4.โซมาเลีย

Puff Puff และ Mandazi เป็นอาหารว่างที่ชาวโซมาเลียชื่นชอบ มักรับประทานคู่กับชาหรือในงานสังสรรค์ของชุมชน ขนมหวานเหล่านี้ทำจากแป้ง น้ำตาล ยีสต์ และบางครั้งปรุงรสด้วยกระวานหรือกะทิ มีเนื้อนุ่ม หวาน และให้ความรู้สึกอบอุ่น สำหรับชุมชนโซมาเลีย การเตรียม Puff และ Bur Mandazi ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลอง และรักษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ทำให้คนในชุมชนรวมตัวกัน อาหารที่เรียบง่ายแต่มีความหมายเหล่านี้ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

.

5.อัฟกานิสถาน

ขนมปังชีสและขนมปังอินทผลัมเป็นอาหารหลักที่ชาวอัฟกานิสถานชื่นชอบ ขนมปังชีสมักทำจากแป้งแผ่นแบนและชีสรสเค็มอ่อนๆ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ในขณะที่ขนมปังอินทผลัมซึ่งอุดมไปด้วยอินทผลัมบดและเครื่องเทศอุ่นๆ เช่น กระวาน ให้ความหวานตามธรรมชาติตามแบบฉบับของชาวอัฟกานิสถาน สำหรับครอบครัวชาวอัฟกานิสถาน การอบขนมปังเหล่านี้เป็นวิธีหนึ่งในการรักษามรดกทางอาหาร เสริมสร้างความผูกพันในครอบครัว และรักษาความทรงจำเกี่ยวกับบ้านเกิด การแบ่งปันขนมปังที่เรียบง่ายแต่มีความหมายเหล่านี้ช่วยส่งเสริมความผูกพัน และส่งผ่านวัฒนธรรมนี้จากรุ่นสู่รุ่น

.

6.ซูดาน

Gurasa เป็นขนมปังแผ่นแบนแบบดั้งเดิมของซูดาน มีลักษณะนุ่มและฟูเล็กน้อย มักเสิร์ฟพร้อมกับสตูว์ เนื้อสัตว์ หรือผัก Gurasa มีบทบาทสำคัญในมื้ออาหารและการสังสรรค์ทางสังคมของชาวซูดาน สำหรับครอบครัวชาวซูดาน การจัดเตรียมและแบ่งปันกูราซาช่วยรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและยังช่วยให้รู้สึกคุ้นเคยด้วยการได้รสชาติอาหารเหมือนอยู่ที่บ้าน

.

7.เวเนซุเอลา

Arepa เป็นอาหารหลักของเวเนซุเอลา ทำจากแป้งข้าวโพดบดหรือแป้งสาลี ปั้นเป็นแผ่นกลมแล้วปิ้งหรือทอด Arepa สามารถใส่ไส้ได้หลากหลาย เช่น ชีส ถั่ว เนื้อสัตว์ หรืออะโวคาโด ทำให้เป็นอาหารที่ชื่นชอบ สำหรับครอบครัวชาวเวเนซุเอลา Arepa ไม่ได้เป็นเพียงอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความสามัคคีอีกด้วย การแบ่งปัน Arepa ช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเวเนซุเอลาไว้ได้ และให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

.

8.ซีเรีย

ฟาตาเยอร์ เป็นขนมอบยอดนิยมของชาวซีเรีย รับประทานเป็นของว่างหรือส่วนหนึ่งของมื้ออาหารก็ได้ พายขนาดพอดีมือเหล่านี้ประกอบด้วยไส้ครีมรสเปรี้ยวและแป้งที่ปรุงรสเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนถึงประเพณีการทำอาหารอันหลากหลายของซีเรีย

.

9.ยูเครน

Vereniki หรือที่เรียกว่า varenyky เป็นเกี๊ยวยูเครนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยไส้เกี๊ยวจะประกอบด้วยมันฝรั่ง ชีส กะหล่ำปลี เห็ด หรือไส้หวาน เช่น เชอร์รี่ เกี๊ยวถือเป็นอาหารพิเศษในวัฒนธรรมยูเครน โดยเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับ ความสามัคคีในครอบครัว และการเฉลิมฉลอง เกี๊ยวมักจะทำกันในช่วงวันหยุดและการรวมกันของครอบครัว เป็นกิจกรรมชุมชนอันน่าชื่นชมที่นำคนหลากหลายช่วงอายุมารวมกัน อาหารจานนี้สะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของยูเครน และเป็นสัญลักษณ์อันเป็นที่รักของเอกลักษณ์ประจำชาติและประเพณี

.

10.เมียนมา

น้ำเต้าชุบแป้งทอดเมนูของว่างยอดนิยม "บูธีจ่อ" ถือกำเนิดจากความเรียบง่ายของครัวพื้นบ้าน ผสมผสานวัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฟักทองสดใหม่ แป้งทอดกรอบ กรอบนอก นุ่มใน และขมิ้นหอมอุ่น หอมเครื่องเทศอ่อน ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ ความพิเศษของบูธีจ่ออยู่ที่แป้งทอดที่ใส่ขมิ้นและงาขาวเพิ่มความหอมกรุ่น เสิร์ฟร้อน ๆ กินคู่กับชาร้อน หรือจิ้มกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวหวาน ก็อร่อยกลมกล่อมไม่แพ้กัน ไม่เพียงแต่เป็นของว่างแสนอร่อย

วันผู้ลี้ภัยโลกคืออะไร

วันผู้ลี้ภัยโลก เป็นวันสากลที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อให้เกียรติผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ระลึกถึงความเข้มแข็ง และกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิดเพื่อหนีจากความขัดแย้ง หรือการประหัตประหาร วันผู้ลี้ภัยโลก เป็นโอกาสในการสร้างความเห็นใจ และความเข้าใจถึงอุปสรรค และรับรู้ถึงความสามารถในการต่อสู้กับปัญหา และสร้างชีวิตใหม่

.

วันผู้ลี้ภัยโลกมีความสำคัญอย่างไร

วันผู้ลี้ภัยโลก เป็นแสงสว่างให้เห็นความขาดแคลน สิทธิ และความฝันของผู้ลี้ภัย ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผู้ลี้ภัยไม่เพียงแต่มีชีวิตรอด และมีชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่มีความสำคัญในการมอบความคุ้มครอง และพัฒนาชีวิตผู้ลี้ภัยให้ดีขึ้นทุกวัน วันนานาชาติเช่นวันผู้ลี้ภัยโลก ช่วยให้สังคมโลกให้ความสนใจต่อความยากลำบากของผู้คนที่ต้องหนีจากความขัดแย้ง และการประหัตประหาร กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันผู้ลี้ภัยโลก สร้างโอกาสในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ลี้ภัย

.

วันผู้ลี้ภัยคือวันไหน และเริ่มต้นเมื่อไร

วันผู้ลี้ภัยโลก คือวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงผู้ลี้ภัยทั่วโลก ในวันผู้ลี้ภัยโลก จะมีการจัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 50 ปี ของ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปีพ.ศ. 2494 จุดเริ่มต้นของวันนี้ เป็นที่รู้จักในนาม วันผู้ลี้ภัยแห่งแอฟริกา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติจะกำหนดให้เป็นวันนานาชาติอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมปีพ.ศ.2543

เกิดอะไรขึ้นในวันผู้ลี้ภัยโลก 

ทุกปี วันผู้ลี้ภัยโลกจะประกอบด้วยกิจกรรมที่จัดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก เพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัย กิจกรรมเหล่านี้ นำโดยผู้ลี้ภัยเอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนที่ให้การรองรับ บริษัท ผู้มีชื่อเสียง เด็กนักเรียน และบุคคลทั่วไป วันผู้ลี้ภัยโลกเป็นช่วงเวลาที่ UNHCR จะแถลงรายการสถานการณ์โลก ซึ่งเป็นรายงานสถานการณ์ของการพลัดถิ่น ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยกว่า 30 ล้านคนที่รอคอยทางออก และเรียกร้องให้มีการรวมพวกเขาเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจ

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat