เปิดหลักฐาน “หมุดเขตป่าคุ้มครอง 2494” ชี้ชัด “ปราสาทตาเมือน-ตาควาย” อยู่ฝั่งไทย
เปิดหลักฐาน “หมุดเขตป่าคุ้มครอง 2494” ชี้ชัด “ปราสาทตาเมือน-ตาควาย” อยู่ฝั่งไทย

“พรทิพย์ โม่งใหญ่” และทีมโต๊ะรายงานพิเศษ ลงพื้นที่ชายแดน ตามหาหมุดเขตป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2494 หลักฐานสำคัญชี้ชัด “ปราสาทตาเมือน-ปราสาทตาควาย” ที่ตกเป็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย
(13 มิ.ย. 68) จากกรณีที่ รัฐบาลกัมพูชาได้จัดตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ เพื่อยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ พิจารณาว่า ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย เป็นของกัมพูชาหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมีนักวิชาการ นักกฎหมาย และอดีตข้าราชการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้เป็นจำนวนมา
ทีมข่าวเวิร์คพอยท์23 โดยคุณพรทิพย์ โม่งใหญ่ บก.โต๊ะรายงานพิเศษ ได้ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อตรวจสอบประเด็นดังกล่าว โดยพบว่าตามหลักฐานทางประวัติศาสต์ การก่อสร้างปราสาททั้ง 4 แห่ง ในกลุ่มปราสาทตาเมือน ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือน และอีกหนึ่งปราสาทที่ไกลออกไป 12 ก.ม. คือ ปราสาทตาควาย คาดว่าถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยทวารวดี
แม้ว่าในสมัยโบราณ เส้นเขตแดนระหว่าง 2 อาณาจักรจะมีการขยับเปลี่ยนไปมา ไม่ตรงกับเขตแดนของ 2 ประเทศในปัจจุบัน แต่จากการตรวจสอบทำให้พบหลักฐานสำคัญ ที่เป็นการยืนยันว่า ปราสาททั้ง 4 แห่งนั้นอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ต้นร่างแผนที่ อัตราส่วน 1:200,000
ทีมข่าวโต๊ะรายงานพิเศษ ได้พูดคุยกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าว่าในฐานะอดีตอธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสมัยที่มีการปักแนวเขตพื้นที่ป่า ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างได้มีการประกาศ พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า ในปี 2481 ต่อมา ปี 2507 ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวน 26 แห่ง รวมถึงป่าบนเทือกเขาพนมดงรัก จากนั้นได้ประกาศพื้นที่ป่าต่อเนื่องมาตลอด 58 ปี
โดยพื้นที่ป่าบริเวณชายแดนไทย กัมพูชา มีการปักหมุดแนวเส้นแบ่งเขตของอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติ เขาพระวิหาร อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย และประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา, พนมดงรัก, ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ, และยอดโดม
นายปลอดประสพระบุว่า ประกาศพระราชกฤษฎีกา มีแผนที่ประกอบโดยแสดงมาตราส่วนและพิกัดที่ชัดเจน เป็นการประกาศของกรมป่าไม้สมบูรณ์ทุกส่วน มีการปักหมุดหลักเขตอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จากจังหวัดอุบลราชธานีมาจนถึงจังหวัดตราด รวม 7 จังหวัด ใช้เวลา 5 ปี ระยะทางยาว 800 ก.ม. ซึ่งหลังประกาศ กรมป่าไม้ได้ครอบครองอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปลูกป่า การดับไฟป่า การสร้างฝายทดน้ำและการจับกุมดำเนินคดีกับทั้งคนไทยและคนเขมรที่ทำความผิด
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณพรทิพย์ ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ประสานข้อมูลจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
ทีมข่าวคุณพรทิพย์ ค้นหาข้อมูลเรื่องแนวเขตป่าไม้ -อุทยานในอดีต จนพบพระราชกิจจานุเบกษา ประกาศกำหนดให้ป่าทุ่งมน -บักได - ตาเบา ในพื้นที่ต.บักใด ต.ตาเบา ต.กังแอน ในอ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เป็นป่าคุ้มครอง โดยประกาศ วันที่ 30 ตุลาคม 2494
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ลงพระปรมาภิไธย มีจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนองฯ ซึ่งการประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้เกิดขึ้นก่อน 2 ปี ที่กัมพูชาได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส ปี 2496 และหากดูตามแผนที่แนบท้าย จะพบว่า มีการกำหนดมาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นอัตราส่วนโบราณที่กัมพูชายึดถือเพราะฝรั่งเศสได้ทำแผนที่ไว้ในสมัยปกครองเป็นอาณานิคม
แผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ประกาศกำหนดให้ป่าทุ่งมน -บักได - ตาเบา พ.ศ. 2494
จากแผนที่จะเห็นได้ว่าแนวเขตป่าคุ้มครองยังอยู่ในเขตประเทศไทย มีพื้นที่ติดต่อกันคือ อินโดจีนฝรั่งเศส(ซึ่งรวมถึงกัมพูชาช่วงก่อนได้รับเอกราช) เมื่อชี้ชัดในแผนที่พบว่าพื้นที่ตั้งปราสาทตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด ตาเมือน อยู่ในต.ตาเมียง ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในพื้นที่ อ.ปราสาท ได้อยู่บริเวณประกาศป่าคุ้มครอง นั้นหมายความว่า หากจะยึดแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 กลุ่มปราสาทตาเมือนนั้นอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่ต้น
และหากดูจากแผนที่ จะพบชัดเจนว่า ปราสาทกลุ่มตาเมือนทั้ง 3 แห่ง และปราสาทตาควาย อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ในปัจจุบัน
คุณพรทิพย์ลงพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าตาเมียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ สำรวจหาแนวหมุดปักแนวเขตป่า จ.สุรินทร์ ที่เป็นเขตป่าคุ้มครอง ที่มีประกาศ วันที่ 30 ตุลาคม 2494 ห่างจากปราสาทตาเมือนธมประมาณ 7 กิโลเมตร
ทีมข่าวโต๊ะรายงานพิเศษลัดเลาะตามแนวชายป่า จนพบหลักหมุดปักปันเป็นเขตป่าอนุรักษ์ มีตราครุฑประทับอยู่บนหลักหมุดดังกล่าว
จากการสำรวจหลักหมุด พบว่าเป็นหลักหมุดที่มีการปักมานาน มี รหัสตัวย่อ RF80 โดยหมุดแรกที่เราพบ เป็นหลักหมุดเลขที่ 10 และเมื่อสำรวจต่อไปตามแนวชายป่า เราพบหลักหมุดที่ 8 และหลักหมุดที่ 2 เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าตาเมียง เล่าว่า ในช่วงเดินสำรวจตลอดเส้นทางจากปราสาทตาควายมาถึงปราสาทตาเมือนธม จะมีหลักหมุดนี้ปักมาตามแนวเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า
จากหลักหมุดที่ปักแสดงอาณาเขตป่าคุ้มครองตั้งแต่ปี 2494 เป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ที่เดิม เป็นการแสดงถึงเขตถึงพื้นที่ควบคุมกฎหมายในการคุ้มครองป่าไม้ และคุ้มครองสัตว์ป่า ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงอาณาเขตการปกครองของไทยที่ครอบคลุมจากแนวหลักเขตไปถึงแนวชายแดนไทย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย อยู่ในเขตประเทศไทย โดยมีหลักฐานแผนที่ 1:200,000 ตั้งแต่ปี 2494 จวบจนปัจจุบัน
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฟลช เอ็กซ์เพรส เปิด “ศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษา” ณ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำเค็ม อ. วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี นำ คณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
