‘SUSTAIN CITY 9 ผู้นำเมือง 5 เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน’

‘SUSTAIN CITY 9 ผู้นำเมือง 5 เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน’

20130 ต.ค. 67 13:50   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

‘SUSTAIN CITY 9 ผู้นำเมือง 5 เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน’ ฟอรั่มสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเมืองที่ดี และยั่งยืน

สำนักข่าว TODAY ชวนไปคลายข้อสงสัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้นำทางความคิดหลากหลายแขนง ที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ สร้างการสนทนาและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ในงาน ‘SUSTAIN CITY 9 ผู้นำเมือง 5 เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน’ ฟอรั่มความรู้สิ่งแวดล้อมที่ครบครันที่สุด ชวนพาไปหาคำตอบพร้อมกันว่า “เมืองที่น่าอยู่จริงๆ ควรเป็นอย่างไร?” และ “จะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนและความก้าวหน้าของเมือง เดินไปด้วยกันได้อย่างสมดุล?”


คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว TODAY กล่าวว่า “ความยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเมืองทั่วโลกทั้งในแง่มุมการดำเนินชีวิตและธุรกิจ งาน SUSTAIN CITY ตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นสำคัญที่จะใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบและสำรวจสุขภาพสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้เดินหน้าในการมาร่วมกันสร้างเมืองที่ดีกันอย่างยั่งยืน”


คุณพลอยธิดา เกตุแก้ว บรรณาธิการสิ่งแวดล้อม สำนักข่าว TODAY กล่าวว่า “เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแค่ ป่าไม้ หรือภูเขา แต่จริงๆ แล้ว คำว่า สิ่งแวดล้อม คือทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราต้องดี โดยเฉพาะในบริบทของเมือง ขนส่งมวลชนต้องดี เสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันต้องดีด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือก 5 ประเด็นสำคัญใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมาชวนพูดคุย ได้แก่ การท่องเที่ยวที่ดี, ขนส่งที่ดี, แฟชั่นที่ดี, การกินที่ดี ไปจนถึงจิตใจที่ดี เพื่อร้อยเรียงเป็นภาพใหญ่ไปสู่การสร้างเมืองที่ดีอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ในงาน SUSTAIN CITY ครั้งนี้”


งานนี้ได้รับเกียรติจาก 9 ผู้เชี่ยวชาญ และ INFLUENCER ที่มี PASSION จริงจังในแต่ละด้าน ได้แก่ “อวัช รัตนปิณฑะ” นักแสดงผู้รักทะเล และ Founder of Save Thailay, “พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารด้านความยั่งยืน, “ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์” Co-Founder & Business Advisor MuvMi, “ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา” นักแสดงสังกัด BeOnCloud และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน, “พิชามาศ ชัยงาม” ผู้ร่วมก่อตั้ง Loopers “กมลนาถ องค์วรรณดี” ที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืน, “พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์” (Pear aRoundP), “จูดี้ จารุกิตติ์” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง และ “ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ” People Experience Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน มาร่วมเสวนาใน 5 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ การท่องเที่ยวที่ดี, ขนส่งที่ดี, แฟชั่นที่ดี, การกินที่ดี และจิตใจที่ดี 


เปิดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “ดำดิ่งสู่โลกสีฟ้า BlueCarbon” กับ อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงผู้รักทะเล และ Founder of Save Thailay กล่าวว่า “สำหรับเขาโลกใต้น้ำ magic มากๆ เหมือนเห็นสิ่งมีชีวิตที่เคยเห็นในหนังสือ วิดีโอ แต่ถึงวันที่เราไปสัมผัสด้วยตาตัวเองโลกใต้น้ำมันใกล้และสนุก ได้ซึมซับธรรมชาติใต้น้ำ การเจอสัตว์ใต้น้ำที่แตกต่างแต่ละพื้นที่ทำให้ค้นพบคุณค่าใต้น้ำ ว่ามีคุณค่ามากมายที่ซอนอยู่ จนวันหนึ่ง เราเริ่มเจอขยะที่หาดที่เราเคยไป เริ่มมีสิ่งที่ไม่สบายตาสบายใจมาอยู่รอบตัวเรามากขึ้น พอลงใต้น้ำทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทำให้เราตั้งคำถามว่า เราไปเอาความสุขจากเขา เราได้เคยเอาอะไรกลับคืนไหม เพื่อดูแลเขากลับคืนบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง


ต่อด้วย หัวข้อ “เชื่อมย่านยั่งยืนถนนสีเขียว” พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารด้านความยั่งยืน กล่าวว่า “ขนส่งที่ดีประกอบไปด้วย 3 ธีม ได้แก่ 1.Travel together First mile late mile ตอนนี้เริ่มมีรถไฟฟ้าหลายสายมากขึ้น และในปี 2028 จะมีทั้งหมด 280 สถานี ระยะทางรวม 440 กิโลเมตร ดังนั้นภาพใหญ่โอเคแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องของระยะทางจากชุมชนไปถึงสถานียังไกล นี่คือโจทย์แรกว่าทำไงให้คนมาใช้ขนส่งมวลชนได้มากขึ้น 2.Travel Clean ทำยังไงให้มีระบบขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด ซึ่งทางกทม.ก็ได้มีการส่งเสริมการติดตั้งระบบที่ชาร์ตอีวี เเละส่งเสริมขนส่งไฟฟ้าเพื่อให้คนได้ใช้ขนส่งที่สะอาดจากพลังงานสะอาดมากขึ้น และ 3. Travel less เป็นเรื่องในระยะยาวที่จะทำยังไงให้คนเดินทางน้อยลง และส่งเสริมให้คนมาใช้สวนสาสาธารณะมากขึ้น โดยให้มีสวน 15 นาที กระจายไปรอบๆ เมืองเพื่อทำให้คนไม่ต้องขับรถไกลๆ” 


ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ Co-Founder & Business Advisor MuvMi กล่าวว่า "ความตั้งใจเรื่องขนส่งของ MuvMi คือ เรามองคนเป็นหลัก อยากสร้างขนส่งที่ดีอยากแก้ปัญหาคน ทำอย่างไรให้ชีวิตเขาดีขึ้นบนความต้องการที่แตกต่างกัน และอยากเข้าถึงการขนส่งที่ดีได้เหมือนกัน สร้างทางเลือกการเดินทางที่ปลอดภัย จ่ายไหว ใช้ได้บ่อย ทำให้ชีวิตสุขสบาย เมื่อเราหากินกับการขนส่ง เป้าหมายเราไม่ได้มองว่าเราจะกำไร เป้าหมายสูงสุดคืออยากสร้างการเดินทางที่ดี ที่สุดท้ายคนทั้งเมืองจะได้ประโยชน์ไปด้วยกัน อยากเห็นคนขับรถส่วนตัวให้น้อยลง ใช้รถสาธารณะมากขึ้น รถจะติดน้อยบ และคนในสังคมรับมลภาวะจากถนนน้อยลง"


และ ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา นักแสดงสังกัด BeOnCloud และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า "เราไม่อยากเห็น เหมยลี่ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ที่ต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ขึ้นเรือ ต่อรถไฟฟ้า แล้วก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์อีก ฝนตกอีก มันเหนื่อย ผมอยากให้แอปพลิเคชัน หรือแท็กซี่เป็นทางเลือกที่ 2 อยากให้ขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกแรก ที่มันสามารถพาเขาไปถึงจุดหมาย ในที่ที่เขาอยากไปได้"

หัวข้อ “คืนความแฟร์ให้สิ่งแวดล้อม ผ่านธุรกิจแฟชั่น” กับ พิชามาศ ชัยงาม ผู้ร่วมก่อตั้ง Loopers กล่าวว่า "อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยมลพิษมากกว่า 10% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการผลิตเสื้อผ้า 1 แสนล้านชิ้นต่อปี แต่ประชากรทั้งโลกมี 8,000 ล้านคน หมายความว่าจะต้องมีเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งเป็นขยะ 10,000 - 45,000 ล้านชิ้นต่อปี และในเมื่อทุกวันนี้เรายังต้องแต่งตัวและซื้อเสื้อผ้าอยู่ แต่อะไรจะเป็นทางเลือกที่ทำให้เราทำดีต่อโลกได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ถูกเร่งรัดด้วยโปรโมรชั่นต่างๆ จะซื้อยังไงให้เกิดวามคุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นผู้บริโภคต้องรู้ว่าเราชอบแบบไหน ค้นหาตัวเองให้เจอ เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเองดีพอเราก็จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ไปเรื่อยๆ”

และ กมลนาถ องค์วรรณดี ที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืน กล่าวว่า "อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เรื่องของความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถทำคนเดียวได้ และไม่ใช่เรื่องที่ใครควรจะทำคนเดียว เพราะความยั่งยืน เป็นปัญหาเชิงระบบ ตอนนี้แบรนด์ต่างๆ อาจจะพยายามทำให้เรารู้สึกผิด เช่น ฉันซื้อเยอะ หรือฉันใส่ไม่ซ้ำ ฯลฯ อย่าตกเป็นเหยื่อของการสื่อสารลักษณะนี้ ที่ป้ายความผิด (blame) ผู้บริโภคตัวเล็กๆ เพราะสุดท้ายแล้ว การที่จะแก้ปัญหาความยั่งยืน เราจะต้องรวมตัวกันเป็นคอมมิวนิตี เหมือนที่ Fashion Revolution (กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวด้านแฟชั่น) เชื่อมโยงคนหลายๆ ประเทศ”


หัวข้อ “กินดีเริ่มที่ "กินหมดจาน" กับ พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ (Pear aRoundP) ย้ำถึงแนวคิดที่อยากเชิญชวนให้ทุกคนกินข้าวให้หมดจาน เพราะขยะจากอาหารนั้นเยอะมากที่สุด ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติกอย่างที่เราเข้าใจ แต่ขยะทั้งสองแบบก็อันตรายไม่แตกต่างกัน ในส่วนขยะจากอาหารที่เกิดจากการย่อยสลายไม่สมบูรณ์ยิ่งน่ากลัวมาก เพราะทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นหนึ่งในสาเหตุตัวเร่งปฏิกริยาทำให้โลกร้อน สภาพอากาศผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”


และ จูดี้ จารุกิตติ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง กล่าวว่า "การสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายแต่ทำยาก เหมือนกับการที่คุณหมอบอกเราว่าเป็นอะไรและวิธีรักษาคือการออกกำลังกาย แต่เราก็ยังไม่ทำสักที เรื่องการกินก็เช่นกันต้องเริ่มที่ตัวเราเองด้วยการกินให้หมดจาน ก็สามารถช่วยให้โลกยั่งยืนได้ ที่สำคัญอย่างในทุกวันนี้อินฟลูเอนเซอร์ที่รีวิวอาหารมีใครที่กินอาหารหมดจานบ้าง ทุกคนเน้นไปที่การโชว์หน้าตาอาหารเยอะๆ ให้ดูสวยงามไว้ก่อน ทำให้ทุกคนเห็นว่ากินเหลือก็ไม่เห็นเป็นอะไร โดยเฉพาะสังคมคนเมืองเวลาไปร้านอาหารสั่งครั้งหนึ่งหลายๆ เมนูแต่ก็กินไม่หมด


วันนี้เริ่มได้แล้วด้วยการก้าวขาออกจากบ้านไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดสด และซื้ออาหารแต่พอดี กินแต่พอดี และสิ่งที่ตามมาอย่างแรกก็คือจะไม่มีขยะเกิดขึ้น ที่สำคัญการกินที่พอดี ซื้ออาหารแต่พอดี ปรุงสุกใหม่เสมอก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีด้วย เพียงแค่ปรับปรุงพฤติกรรมตัวเองก่อนเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ให้ไปสู่ที่ยิ่งใหญ่และเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืนและลดมลภาวะขยะได้”


ปิดท้าย เวทีเสวนา ในหัวข้อ “ฮีลใจก่อนไปฮีลโลก” กับ ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ People Experience Expert ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน กล่าวว่า "จริงๆ คนที่ฮีลใจได้ดี ต้องเอาตัวเองออกไปอยู่กับสิ่งแวดล้อม คนที่อยู่กับสิ่งแวดล้อมเยอะ งานวิจัยในฟินแลนด์ พบว่า คนที่อยู่กับธรรมชาติ เช่น เด็กที่คลอดโดยธรรมชาติ หรือคนที่เดินป่าค่อนข้างเยอะ จะมีภูมิคุ้มกันสูงจากจุลลินทรีย์ที่มาจากป่า


เราลืมไปแล้วว่าธรรมชาติเนี่ยฮีลใจเรามาก เราลืมจริงๆ เราคิดว่าเราฮีลใจได้ด้วยตัวเราเอง เราหยิ่ง เราคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เราไม่ต้องการแดด เราไม่ต้องการออกไปชมจันทร์ ชมดวงดาว เราไม่ต้องการเดินป่า ไม่ต้องการสูบลมทะเล ซึ่งมันดีต่อปอด สมอง และนาฬิกาชีวภาพ เราไม่ทำเลย เราทำแต่งาน และเราก็จะตายไว ฮีลใจก่อนไปฮีลโลก บางทีเราก็ลืมว่า โลกก็อยากจะฮีลเราเหมือนกัน”

‘SUSTAIN CITY 9 ผู้นำเมือง 5 เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน’ เป็นมากกว่าแค่งานเสวนา แต่ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองในมิติที่ครอบคลุมและมีผลต่อชีวิตประจำวัน

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง