กต.โต้ ‘กัมพูชา’ ย้ำไม่ได้เอาแผนที่ 1:200,000 ขึ้นโต๊ะเจรจาตามที่อ้าง ชี้!ขาดความจริงใจในฐานะเพื่อนบ้าน
กต.โต้ ‘กัมพูชา’ ย้ำไม่ได้เอาแผนที่ 1:200,000 ขึ้นโต๊ะเจรจาตามที่อ้าง ชี้!ขาดความจริงใจในฐานะเพื่อนบ้าน

กต.โต้ ‘กัมพูชา’ ยืนยันไม่ได้เอาแผนที่ 1:200,000 ขึ้นโต๊ะเจรจาตามที่อ้าง ชี้!ขาดความจริงใจในฐานะเพื่อนบ้าน ย้ำทั้งสองฝ่ายต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าใจผิด-สร้างความขัดแย้ง
เมื่อเวลา 22.31 น. วันที่ 15 มิ.ย.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ ระบุถึง การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย - กัมพูชา หรือ JBC ครั้งที่ 6 จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.68) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยมีนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดนเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายกัมพูชา มีนายลำ เจีย รัฐมนตรีรับผิดชอบสำนักงานเลขาธิการกิจการชายแดนแห่งชาติกัมพูชา เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายกัมพูชา โดยคณะกรรมาธิการเขตแดน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศ
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 13 ปี หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 ที่กรุงเทพฯ ทั้งสองฝ่ายร่วมกันหารืออย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเด็นการดำเนินงานด้านเทคนิคภายใต้กรอบกลไก JBC นำไปสู่ความคืบหน้าสำคัญ ได้แก่
(1) รับรองผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Technical Sub-Committee (JTSC)) ครั้งที่ 4 (14 ก.ค.67) ณ เมืองเสียมราฐ โดยทั้งฝ่ายเห็นตรงกันต่อตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตถึง 45 หลัก และเห็นชอบให้นำเทคโนโลยี LiDAR มาใช้ในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อความรวดเร็วในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
(2) เห็นชอบให้มีการแก้ไขแผนแม่บท ว่าด้วย การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2546 (TOR 2003) เพื่อนำเทคโนโลยี LiDAR มาใช้ในการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
(3) เห็นชอบการส่งชุดสำรวจร่วมไปลงสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ระหว่างหลักเขตแดนที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ในพื้นที่ที่ใช้ลำน้ำ หรือเส้นตรงเป็นเส้นเขตแดน โดยมอบหมายให้ JTSC ไปหารือและจัดทำข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Instruction: TI) ร่วมกันต่อไป
(4) เห็นชอบให้มีการจัดทำข้อกำหนดทางเทคนิคการเดินสำรวจในพื้นที่ตอนที่ 6 (จากเขาสัตตะโสม จนถึงหลักเขตแดนที่ 1 ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ) ซึ่งเป็นประเด็นคงค้างมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมอบหมาย JTSC จัดทำข้อกำหนดทางเทคนิคการเดินสำรวจ ไปพร้อมๆกับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อเสนอต่อ JBC ต่อไป
อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยแสดงความผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ต่อการที่ฝ่ายกัมพูชา ยังไม่ยอมร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหาเฉพาะ และลดความตึงเครียดระหว่างกัน แต่ยังเดินหน้านำเรื่องพื้นที่ 4 จุด (พื้นที่ช่องบก , ปราสามตาเมือนธม , ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย) ไปสู่การพิจารณาของ ICJ ซึ่งสะท้อนว่าฝ่ายกัมพูชาขาดความตั้งใจจริง ในการใช้กลไกทวิภาคีต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
ในการนี้ ประธานฝ่ายไทย ได้ย้ำท่าทีไทยตอบโต้ทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา (ซึ่งได้บันทึกแนบไว้ในเอกสารผลลัพธ์ Agreed Minutes ของการประชุมครั้งนี้) ดังนี้
1. การดำเนินการของไทยเป็นไปโดยความจำเป็น ตามหลักการป้องกันตัวจากการที่ถูกฝ่ายกัมพูชาโจมตีก่อน และเป็นไปอย่างเหมาะสมและได้สัดส่วน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
2. ไทยแสดงความผิดหวังที่ฝ่ายกัมพูชา เลือกที่จะปิดประตูการเจรจาอย่างสันติใน 4 พื้นที่ โดยท่าทีของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ได้เน้นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาระหว่างกันแบบทวิภาคี และบทบาทที่สำคัญของ JBC ในการทำให้มีเขตแดนชัดเจนระหว่างกัน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย
3. ไทยย้ำถึงความสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องยึดมั่น MOU 2543 (ซึ่งฝ่ายกัมพูชาได้เห็นชอบร่วมกับไทย) โดยไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเขตแดน ไม่รุกล้ำเขตแดนระหว่างกัน และทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้ความอดกลั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย
4. ทั้งสองฝ่ายจะต้องหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูล ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและขัดแย้งในวงกว้าง และย้ำถึงความสำคัญของการใช้กลไกความร่วมมือทวิภาคีอื่นๆ ในการช่วยแก้ปัญหาด้วย เช่น GBC , RBC การประชุมผู้ว่าจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา เพื่อให้แนวชายแดนมีความสงบเป็นปกติ และอำนวยความสะดวกการเดินทางของคนและขนส่งสินค้า ซึ่งฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธ
การประชุมมิได้มีการหารือในประเด็นที่กัมพูชาจะนำพื้นที่ 4 จุด เข้าสู่การพิจารณาของ ICJ และมิได้มีการหารือประเด็นแผนที่ 1:200000 คณะกรรมการปักปันสยาม - อินโดจีน ตามที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างแต่อย่างใด การประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือในประเด็นเทคนิคในการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 ของการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนตามแผนแม่บทฯ ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา สมัยพิเศษ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2568 - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง :
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
