ไอกรนคืออะไร? โรคร้าย ติดง่าย อันตรายถึงชีวิต

ไอกรนคืออะไร? โรคร้าย ติดง่าย อันตรายถึงชีวิต

29914 พ.ย. 67 11:13   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

โรงเรียนดังพบ “โรคไอกรน” ระบาด สั่งปิดโรงเรียนทันทีครึ่งเดือน! โรคไอกรนคืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน มีวิธีสังเกตอาการและป้องกันอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

จากกรณีการระบาดของโรคไอกรนในพื้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน พบมีผู้ป่วยมากกว่า 20 ราย ล่าสุดทางโรงเรียนออกประกาศด่วนปิดสถานศึกษาชั่วคราว เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 - 27 พ.ย.67 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปดูกันว่าโรคนี้คือโรคอะไร มีอาการ และวิธีป้องกันอย่างไร


โรคไอกรน

โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ไอถี่ๆ จนหายใจไม่ทัน และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียง วู้ป สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ ซึ่งอาการอาจจะเรื้อรังได้นานถึง 3 เดือน


สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) พบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วนโพรงจมูก(nasopharynx) ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ก่อนมีอาการไอที่กำเริบหนักเป็นพักๆ(paroxysmal)


การระบาด

ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว เป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก อาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง ส่วนใหญ่ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยทั่วไปแล้วโรคเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน


ถึงแม้ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงมาก แต่ยังพบโรคนี้ได้ประปรายในชนบท และพบในเด็กอายุเกิน 5 ปี มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน พบการระบาดเป็นครั้งคราวในเด็กนักเรียนชั้นประถม 


ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค


อาการและอาการแสดงแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้


1) ระยะน้ำมูก (Catarrhal stage) 

- เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ 

- อาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล 

ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะเป็นการไอแห้งๆนานเกิน 10 วัน 


2) ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal stage) 

- มีอาการไอเป็นชุดๆ 

- เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะ จะเริ่มมีลักษณะของไอกรน 

- ไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง 

- หายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป 

- หน้าตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล 

- ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพอง 


การไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้ ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุดๆ ระยะไอเป็นชุดๆ นี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้


3) ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage)

ระยะนี้เป็นระยะฟื้นตัว ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆจะค่อยๆ ลดลง ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์


การรักษา

เนื่องจากในช่วงระยะแรก เชื้อ B. pertussis จะมีอยู่ในลำคอของผู้ป่วย ถ้าให้ยาปฎิชีวนะที่ได้ผลเฉพาะคือ อิริโทรมัยซิน(erythromycin) เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อช่วยลดรุนแรงของโรค แต่ถ้าพบผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไอเป็นชุดๆ การให้ยาจะไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่เหลืออยู่ให้หมดไปในระยะ 3-4 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อได้


การรักษาตามอาการ 

- พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น 

- อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี 

- หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป


การป้องกัน

ผู้สัมผัสโรค

- ทุกคนควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

- เด็กที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดควรได้รับ erythromycin นาน 14 วัน 

- ผู้สัมผัสโรคที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบ 4 ครั้ง ควรจะเริ่มให้วัคซีน

- ผู้สัมผัสโรคที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 4 ครั้ง ให้กระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้ง ยกเว้นเด็กที่เคยได้รับวัคซีนกระตุ้นมาแล้วภายใน 3 ปี หรือเด็กอายุเกิน 6 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม ส่วนผู้ที่เคยได้วัคซีนมาแล้ว 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 เกิน 6 เดือน ควรจะให้วัคซีนเข็มที่ 4 ทันทีที่สัมผัสโรค


การแยกผู้ป่วย 

เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย erythromycin เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน นับจากที่เริ่มให้ยา หรือแยกไว้ 3 สัปดาห์ หลังมีอาการไอแบบ paroxysmal


การให้วัคซีนป้องกัน

ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้ง นับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน กำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือน ส่วนเด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี จะไม่ให้วัคซีนไอกรน เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง


อ้างอิง : https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=29






TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง