สังเกตก่อนสูญเสีย สัญญาณอันตรายจากความเครียด
สังเกตก่อนสูญเสีย สัญญาณอันตรายจากความเครียด
10 ก.ย. วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ส่องสัญญาณอันตรายพร้อมทั้งวิธีรับมือและช่วยเหลือ ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นเรื่องเศร้า
(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)
คุณเคยรู้สึกเศร้าใจ หมองหม่น หรือเบื่อหน่ายกับชีวิตบ้างไหม? ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าปล่อยให้เกิดความรู้สึกแบบนี้เป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังเผชิญกับความเครียด จนนำพาให้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นได้ เช่น เกิดอาการเครียด วิตกกังวล เป็นโรคซึมเศร้า หรือแย่จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็นวันสำคัญ คือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เพื่อให้เราได้ตระหนักและรับรู้ถึงวิธีการป้องกันปัญหาดังกล่าว
ข่าวเวิร์คพอยท์ 23 จะพาทุกคนไปดูวิธีการสังเกตอาการ การรับมือ และความช่วยเหลือ เมื่อตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการเครียด เสี่ยงต่อการสูญเสีย
อาการ
- มีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว
- ความสนใจกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก
- นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
- กระวนกระวายอยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตายหรือคิดอยากตาย
หากมีอาการเหล่านี้เกิน 5 ข้อ และมีอาการต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ขึ้นไป บ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงกับโรคซึมเศร้า หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์
วิธีป้องกัน
เปลี่ยนความคิด: ลองมองย้อนไปว่าเกิดอะไรขึ้น มีความคิดอะไรแวบขึ้นมาในสมอง แล้วลองพิจารณาว่าความคิดนั้นมันถูกต้องแค่ไหน
เปลี่ยนพฤติกรรม: หาอะไรทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ความคิดฟุ้งซ่านจะลดลงและอารมณ์จะดีขึ้น
การพูดคุยเปิดใจ: สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาได้ระบายความรู้สึกมากขึ้น
ขอความช่วยเหลือ: ปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
เพื่อเป็นการเตือนใจว่าการป้องกันการฆ่าตัวตายถือเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการขอคำแนะนำ หรือต้องการขอความช่วยเหลือ ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่ 1323 ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิง:
https://dmh.go.th/service/view.asp?id=147
https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/201
https://www.who.int/campaigns/world-suicide-prevention-day/2023