คืบหน้า! ค้นหาต้นตอเชื้อ"แอนแทรกซ์"หลังพบผู้ป่วยรายล่าสุด

คืบหน้า! ค้นหาต้นตอเชื้อ"แอนแทรกซ์"หลังพบผู้ป่วยรายล่าสุด

88602 มิ.ย. 68 21:12   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

คืบหน้า! ค้นหาต้นตอเชื้อ"แอนแทรกซ์"หลังพบผู้ป่วยรายล่าสุด นพ.สสจ.สระแก้ว ยืนยันยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยในกลุ่มเสี่ยง

(2มิ.ย.68) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีที่เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) เวลา 16.45 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้รับแจ้งจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์รายแรกของจังหวัด ผู้ป่วยเป็นชาย อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้างตัดไม้ ภูมิลำเนา ต.ท่าแยก อ.เมืองสระแก้ว เข้ารับการรักษาที่ รพ.พัทยาปัทมคุณ จ.ชลบุรี ด้วยอาการตุ่มแผลบริเวณศีรษะ ด้านหลังคอ แขน และขา การตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์นั้น ซึ่งจากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุราเป็นประจำทุกวัน และชอบบริโภคก้อย ซอยจุ๊ เนื้อดิบเป็นประจำ ล่าสุดได้รับประทานเนื้อดิบเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าแผู้ป่วยติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยที่ไม่ได้รับการปรุงสุก


นพ.ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว (นพ.สสจ.สระแก้ว) สั่งการให้ทีมสอบสวนโรคจากกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสระแก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ลงสอบสวนโรคในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านคลองผักขม ต.ท่าแยก อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว โดยพื้นที่บ้านคลองผักขม อยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอเมืองสระแก้ว ห่างจากตัวเมืองสระแก้ว ประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเชื้อ


นอกจากนั้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ยังเผยแพร่ข้อมูลกรณีดังกล่าว เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ,ล้างมือและชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์ ,เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย ,บริโภคอาหารที่ปรุงสุก ร้อน และสะอาด เท่านั้น หากพบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ ห้ามชำแหละสัตว์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และหากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน 


ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ บ้านคลองผักขม ม.8 ต.ท่าแยก อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว พบว่าหลังทราบข่าวว่า มีคนติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ชาวบ้านในพื้นที่หลายครัวเรือนตื่นตัว โดยที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองผักขม ต.ท่าแยก อ.เมืองสระแก้ว มีการเปิดห้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหาแนวทางและขั้นตอนการสอบสวนโรค โดยนำตัวกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเชื้อ มาสอบสวนโรคประมาณ 5 คน พร้อมขั้นตอนสำหรับแจ้งเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่บ้านคลองผักขม และพื้นที่ใกล้เคียง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 


โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ได้นำรถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เข้ามาเพื่อฉีดพ่นในพื้นที่เกิดโรคด้วย พร้อมกับนำตัว นายวุฒิพงษ์ วงษ์ทา อายุ 38 ปี เจ้าของควายตัวที่แพร่เชื้อโรคแอนแทรกซ์ มาสอบสวนด้วย 

นายชินธิป เรืองสา อายุ 54 ประธานสภา อบต.ท่าแยก ต.ท่าแยก จ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ม.8 บ้านคลองผักขม พื้นที่เกิดโรค กล่าวว่า ตอนนี้เราพบผู้ป่วยรายแรกที่บ้านผักขม ชื่อเล่นว่า "ไก่" เป็นคนตัดไม้ มีที่อยู่บ้านคลองผักขม ซึ่งจากการสอบถามข้อมูล นายไก่ได้กินเนื้อควาย ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตรวจสอบพบว่า คนในพื้นที่บ้านคลองผักขมได้ไปซื้อความตัวนี้มาจาก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้วควายเกิดผยศวิ่งหนี หลังจับตัวได้ก็เอามาเชือดแล้วแบ่งขายบางส่วน แล้วนำมารับประทานกันด้วย 


"อยากเตือนพี่น้องที่อยู่ละแวกใกล้เคียงช่วยกันดูแลอาหารการกิน พยายามกินสุก อย่ากินดิบ ซึ่งโรคแอนแทรกซ์เกิดจากสัตว์ ขอให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพกันด้วย" นายชินธิป กล่าว


ด้าน นางสาว ณัฎฐ์ธวรรณ ศรีเจียม อายุ 40 ปี เจ้าของร้านอาหารอีสาน ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา เผยว่า ก็ได้ทราบข่าวว่าเกิดโรคแอนแทรกซ์ขึ้นในพื้นที่ ก็มีผลกระทบบ้างมีลูกค้ากินเนื้อน้อยลง แต่ที่ร้านก็มีลาบเป็ด ลาบหมู ซึ่งมีลูกค้ามาแล้วได้สั่งอาหารประเภทก้อยดิบ ก็ได้บอกและแนะนำว่าช่วงนี้รณรงค์ให้กินอาหารประเภทปรุงสุกมากกว่า เพราะว่าเนื้อมันมีโรค ก็เปลี่ยนจากเมนูก้อยมาเป็นเมนูลาบสุก ซึ่งไม่ได้กังวลอะไรมากเพราะว่าเราซื้อเนื้อจากคอกคุณภาพ ที่ ต.โคกปี่ฆ้อง ที่เขาทำเองและดูแล้วว่าปลอดภัย 


ต่อมาเวลา 14.00 น. นพ.ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว (นพ.สสจ.สระแก้ว) ร่วมประชุมผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ กับ ทีมสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี , ด่านกักกันสัตว์จังหวัดสระแก้ว , สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 , สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสระแก้ว ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ต.ทาเกษม อ.เมืองสระแก้ว


นายแพทย์ธราพงษ์ เปิดเผยว่า วันนี้ทีมสอบสวนฯ ได้ลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคโดยสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดร่วมบ้าน อสม. ผู้นำชุมชน และผู้สัมผัสเชื้อเพื่อหาเบาะแสรวมทั้งลงไปยังบ้านผู้ป่วย เบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่ตำบลท่าแยกมาประมาณ 5 ปี ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาผู้ป่วยรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัส โดยพักค้างในแปลงไม้ลักษณะแคมป์คนงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 มีควายถูกยิงตายและได้นำเนื้อมาชำแหละ ผู้ป่วยได้ร่วมกินก้อยดิบด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ร่วมชำแหละและคนที่กินก้อยดิบคนอื่น ๆ ยังไม่มีใครมีอาการป่วย 

 

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนั้นในช่วงบ่ายทีมสอบสวนโรคได้ประชุมวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อหาแนวทางดำเนินการควบคุมโรคร่วมกัน ก่อนที่จะลงพื้นที่ในเวลาต่อมาเพื่อสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยค้นหาผู้สัมผัส ในกิจกรรมและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ จุดฆ่าควาย จุดชำแหละควาย แคมป์คนงานในแปลงไม้ บ้านผู้ป่วย และคอกวัวที่อยู่ข้างแคมป์ในแปลงไม้ พร้อมให้ยาป้องกันหลังสัมผัส ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยการทบทวนเวชระเบียนของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองผักขม มีแผนจัดระบบเฝ้าระวังโรคต่อเนื่อง รวมถึงค้นหาผู้ป่วยหรือสัตว์ตายผิดปกติในพื้นที่ตำบลท่าแยก และทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อม 


นายแพทย์ธราพงษ์ กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะในสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ชำแหละ เก็บสิ่งส่งตรวจในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน มีด และอุปกรณ์ชำแหละในจุดต่าง ๆ และสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อ โดยปศุสัตว์จะดำเนินการส่งตรวจตามระบบ 


นายแพทย์ธราพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนโรคพบยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยสงสัยหรือประวัติสัมผัสโรคเข้าข่าย ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัส มีผู้ชำแหละ 7 ราย ผู้รับประทานเนื้อดิบ 30 ราย และผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 ราย ในส่วนข้อมูลสัตว์จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้วในรัศมี 5 กิโลเมตร พบโค 243 ตัว และแพะ 29 ตัว โดยมีแผนดำเนินการฉีดวัคซีนและยาปฏิชีวนะในโคและกระบือในพื้นที่เสี่ยงในวันที่ 3 มิถุนายน 2568 


"ปัจจุบันยังไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแอนแทรกซ์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการ งดบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ รวมถึงรีบไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ" นายแพทย์ธราพงษ์ กล่าว


ข่าวเวิร์คพอยท์23


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat