พบกลุ่มเสี่ยงแอนแทรกซ์ 41 ราย ตรวจพื้นที่ไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ

พบกลุ่มเสี่ยงแอนแทรกซ์ 41 ราย ตรวจพื้นที่ไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ

73903 มิ.ย. 68 16:55   |     AdminNews

ปศุสัตว์สระแก้วตรวจเข้มพื้นที่ต้นทางผู้ป่วยแอนแทรกซ์ ไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ – เร่งส่งตัวอย่างดินตรวจหาเชื้อ

วันที่ 3 มิถุนายน 2568 เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางของผู้ป่วยชายอายุ 53 ปี ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทยาปัทมคุณ จังหวัดชลบุรี ด้วยอาการตุ่มแผลตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ


จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยมีอาชีพรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัส และพักอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานกลางสวนป่ายูคาฯ มานานกว่า 5 ปี เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีควายแหกคอกถูกยิงตายในพื้นที่ และมีการชำแหละนำมาแบ่งกินในหมู่บ้าน โดยผู้ป่วยร่วมรับประทานก้อยดิบจากเนื้อควายดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมชำแหละและรับประทานเนื้อดิบพร้อมกับผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด


ในการตรวจสอบพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างดินจากคอกวัวและจุดที่มีการชำแหละกระบือ รวมถึงพื้นที่ที่กระบือถูกยิงตาย เพื่อนำส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ โดยจะส่งวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ (ศวพ.) ชลบุรี และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี (สคร.6)


ขณะที่ทีมสอบสวนโรค ประชุมสรุปความคืบหน้าการทำงาน เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานควบคุมและเฝ้าระวังโรค (รอบบ่าย) ที่ห้องประชุมสิรินธร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจากการสอบสวนโรค ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัย และผู้ป่วยสงสัย หรือประวัติสัมผัสโรคเข้าข่าย แต่มีกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัส โดยมีผู้ชำแหละ 7 ราย ผู้รับประทานเนื้อดิบ 30 ราย และผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 ราย


ทั้งนี้จากการประชุมร่วมของหน่วยงานในพื้นที่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้สรุปข้อมูลสำคัญว่า


-กระบือที่ถูกยิงตายเป็นเพราะแหกคอกหนีและไม่สามารถจับได้

-กระบือในฝูงเดียวกันจำนวน 7 ตัว ไม่มีตัวใดแสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติ

-บ้านผู้ป่วยไม่มีการเลี้ยงสัตว์ และไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วย

-บริเวณตำบลท่าแยกและพื้นที่ใกล้เคียงไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา

-เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินการควบคุมทันทีหากพบความผิดปกติในสัตว์


อย่างไรก็ตาม โรคแอนแทรกซ์สามารถติดจากการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือเนื้อสัตว์ติดเชื้อ โดยเชื้อสามารถสร้างสปอร์ที่อยู่รอดในดินได้นานหลายปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพฤติกรรมการบริโภคเนื้อดิบ เช่น ก้อย ซอยจุ๊


ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและทีมสอบสวนโรคอยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลการรักษาจากโรงพยาบาลเพิ่มเติม รวมถึงการตรวจหาโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น ไข้รากสาด (scrub typhus) เพื่อยืนยันความชัดเจนของสาเหตุและเส้นทางการติดเชื้ออย่างเป็นทางการต่อไป


สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว 



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat