ระวัง! 5 โรคร้ายแรง แฝงมากับน้ำท่วม
ระวัง! 5 โรคร้ายแรง แฝงมากับน้ำท่วม
เลี่ยงน้ำท่วมไม่ได้ แต่เลี่ยงให้ไม่ป่วยจากน้ำท่วมได้! เช็กเลย 5 โรคที่มากับน้ำ พร้อมวิธีป้องกัน
(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)
น้ำท่วมไม่ใช่เพียงภัยพิบัติที่ทำลายทรัพย์สิน แต่ยังเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในน้ำท่วม ทำให้ผู้ประสบภัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ แม้ว่าน้ำท่วมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาได้ เราจึงจะพาทุกคนไปดูวิธีรับมือกับ 5 โรคควรระวัง ที่มาพร้อมกับน้ำท่วมกัน!!
1. ไข้ฉี่หนู
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรค(Reservoir)ที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ข้อมูล
อาการ
ระยะแรก
- ไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น
- ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ตาแดง ระคายเคืองตา ตาเหลือง ตัวเหลือง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อรุนแรง
- ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต
ระยะที่สอง
- ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ
- ตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปอดอักเสบ
- เลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ
วิธีป้องกัน
หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำสกปรก หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูต หลังจากนั้นให้รีบชำระล้างร่างกายทันที หากมีแผลไม่ควรให้สัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนอาหารที่ต้องรับประทานสดๆ เช่น ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง
2. โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อโดนยุงกัดจะติดเชื้อจะทำให้สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ภายใน 3 – 15 วัน
อาการ
- มีไข้สูง
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- หน้าแดง จ้ำเลือดเล็กๆตามผิวหนัง
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
วิธีป้องกัน
ในช่วงที่มีน้ำท่วมขังทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น ต้องระวังอย่าให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด และทายากันยุง
3. โรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย และมักระบาดในช่วงฤดูฝน เป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของเยื่อบุตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบางใสที่คลุมอยู่ด้านในของเปลือกตาและบนตาขาว
อาการ
- ระคายเคืองตา
- ตาแดง หนังตาบวม
- ตาสู้แสงไม่ได้ หรือมีน้ำตาไหล
วิธีป้องกัน
เมื่อมีอาการคันตา ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรกหรือยังไม่ได้ล้าง หากพบผู้ที่มีอาการ ควรแยกตัวออกจากผู้อื่นก่อน เพื่อป้องกันการระบาดและการติดโรค
4.โรคผิวหนัง
โรคที่พบบ่อยที่สุดที่มากับน้ำท่วม ซึ่งโรคผิวหนังจากน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลผุพองเป็นหนอง เป็นต้น
อาการ
- เท้าเปื่อย เป็นหนอง
- คันตามซอกนิ้วเท้า
- ผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น
- ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง
วิธีป้องกัน
หลีกเลี่ยงการไม่แช่อยู่ในน้ำนาน ๆ หากพบว่ามีบาดแผลที่เท้า ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อ
5. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ในช่วงน้ำท่วม มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจากของเสีย อาจปนเปื้อนมากับน้ำท่วม ทำให้เสี่ยงเป็นหลายโรค เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป
อาการ
- ปวดท้อง
- ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- อาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด
วิธีป้องกัน
ล้างมือให้สะอาด กินอาหารที่ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด แยกขยะ หรือของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ให้ปนเปื้อนไปในน้ำ
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ จึงขอแนะนำให้ดูแลความสะอาด เท่าที่จะทำได้ในช่วงน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายต่อตัวเองและคนรอบข้าง