น้ำโขงหนุนลำน้ำอูน-สงครามล้น ท่วมนาข้าวที่นครพนมแล้ว 8 หมื่นไร่
น้ำโขงหนุนลำน้ำอูน-สงครามล้น ท่วมนาข้าวที่นครพนมแล้ว 8 หมื่นไร่
นาข้าวนครพนมจมน้ำแล้ว 80,000 ไร่ น้ำโขงสูงหนุนลำน้ำอูน-ลำน้ำสงครามเอ่อล้น "ท่าบ่อสงคราม" หนักสุดกลายเป็นเกาะ โค-กระบือนับพันตัวเริ่มขาดแคลนหญ้า
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากระดับน้ำโขงเกือบ 12 เมตร ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำแนวตลิ่งติดชายแดนแม่น้ำโขง ยังกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ได้รับผลกระทบหนักเริ่มวิกฤติ เนื่องจาก ปริมาณน้ำล้นเกินความจุ ถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร
ภาพรวมทั้งจังหวัดนครพนม น้ำท่วมประมาณ 80,000 ไร่ หนักสุดพื้นที่ อ.ศรีสงคราม มีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 50,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงไม่ลดลงช่วง 1-2 สัปดาห์ คาดว่า จะได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อให้การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา ส่วนพื้นที่บ้านเรือน เริ่มได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังแล้วบางส่วน คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้น จากปัญหาน้ำโขงหนุน
พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัย ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม ถือเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบเกือบทุกปี เนื่องจาก มีที่ตั้งติดกับลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ลักษณะคล้ายเกาะกลางน้ำ มีบ้านเรือนเป็นจุดเสี่ยงประมาณ 300 หลังคาเรือน หลังจากน้ำเอ่อล้นเกินความจุ จะเข้าท่วมบ้านเรือนทันที แต่ชาวบ้านก็จะคุ้นเคยเป็นเหมือนวิถีชีวิต สามารถปรับตัวตามสภาพได้ โดยมีการสร้างบ้านเรือยยกสูง และมีการเก็บสิ่งของขึ้นที่สูงเตรียมพร้อมทุกปี
แต่ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โค กระบือ เนื่องจาก เป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงกระบือมากกว่า 1,000 ตัว ปกติจะปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เพราะมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์หลายหมื่นไร่ แต่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ต้องต้อนโค-กระบือ ไปเลี้ยงในที่น้ำท่วมไม่ถึง ทำให้เริ่มขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ บางรายแบกรับภาระต้องซื้อวันละนับ 1,000 บาท ส่วนนาข้าวจะเพาะปลูกทำนาปีช่วงฤดูฝน หากปีไหนน้ำท่วมจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ต้องรอชดเชยเยียวยา และต้องมาทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งแทน
ขณะเดียวกัน ทางปศุสัตว์จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม ด่านกักกันสัตว์นครพนมและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้ระดมจัดหาฟางแห้งอัดก้อน ลงพื้นที่ไปแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นแจกจ่ายแล้วกว่า 2,000 ก้อน(ฟ่อน) อยู่ระหว่างเร่งจัดสรรให้การดูแลช่วยเหลือ ให้เพียงพอกับความต้องการ เชื่อว่า หากระดับน้ำไม่ลดอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ยิ่งจะส่งผลกระทบหนักเช่นกัน
ข่าวที่คล้ายกัน :