เฝ้าระวังน้ำโขงล้นตลิ่ง รับน้ำจากภาคเหนือ-พายุถล่ม

เฝ้าระวังน้ำโขงล้นตลิ่ง รับน้ำจากภาคเหนือ-พายุถล่ม

30412 ก.ย. 67 12:02   |     Tum1

เฝ้าระวังน้ำโขง รับมวลน้ำจากภาคเหนือ-พายุฝน หวั่นน้ำท่วมฉับพลัน ล่าสุดห่างจุดล้นตลิ่งแค่ 2 เมตร ลำน้ำสาขายังระบายช้า 4 อำเภอชายแดนนครพนมเป็นพื้นที่เสี่ยง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม ยังคงต้องเฝ้าระวังแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ ประมาณ 9.50 เมตร ถือว่ายังอยู่ในจุดต้องเฝ้าระวัง เนื่องจาก ห่างจากจุดล้นตลิ่งประมาณ 2 เมตร คือ ที่ 13 เมตร หากน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่ง จะส่งผลให้ลำน้ำสาขาไม่สามารถไหลระบายลงแม่น้ำโขงได้ ทำให้เอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่ม ชุมชน ย่านเศรษฐกิจการค้า กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ยังมีมวลน้ำจากภาคเหนือ บวกกับมีพายุฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีมวลน้ำไหลลงสู่น้ำโขงต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือพื้นที่ อ.ชายแดน 4 อำเภอ ที่ติดกับแม่น้ำโขง มี อ.บ้านแพง , อ.ท่าอุเทน , อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้วางมาตรการแนวทางป้องกัน เสริมเครื่องสูบน้ำระบายลงน้ำโขง หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องมาอีก  


ขณะเดียวกัน ทางด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ จ.นครพนม พร้อมหารือรับทราบปัญหา วางแนวทางรับมือน้ำโขงล้นตลิ่ง กำชับให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง 


ข่าวที่คล้ายกัน :



เลขาฯ สททช. เปิดเผยว่า ทาง สนทช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ฝน คาดการณ์แล้วในช่วงสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนในพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับน้ำในแม่น้ำโขง มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจาก ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ สปป.ลาว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 12-18 กันยายน 2567 ประมาณ 0.5-1.0 เมตร บริเวณ จ.เชียงราย , เลย , บึงกาฬ , นครพนม , มุกดาหาร , อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชานี มีแนวโน้มล้นตลิ่ง

บริเวณ จ.หนองคาย 0.5-1.0 เมตร และที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีแนวโน้มที่น้ำล้นตลิ่งได้ถึง 1 เมตรเศษ จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น และเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา 



นอกจากนี้ ในส่วนของ เขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากๆ ต้องเร่งระบายออกมาก่อน เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนชุดใหม่ที่จะตกลงมาเติม ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ได้มีการแจ้งเตือนไปแล้วว่า มีพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงบ้างในแต่ละจังหวัด ขอให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้ไปบริหารจัดการดูแลประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง