7 คำถามถึง “รัฐบาล-กสทช.” ทำไม Cell Broadcast ยังไม่เกิด
7 คำถามถึง “รัฐบาล-กสทช.” ทำไม Cell Broadcast ยังไม่เกิด

อดีตที่ปรึกษา กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ตั้งคำถาม 7 ข้อ ถึงรัฐบาลและ กสทช. ทำไมระบบเตือนภัยพิบัติผ่าน Cell Broadcast ถึงยังไม่เกิด?
(30 มี.ค. 68) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา 1 ในข้อวิจารณ์ที่สังคมมีต่อการรับมือและจัดการของรัฐบาล คือเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ ประชาชนสับสนวุ่นวาย แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนจากภาครัฐ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึง และมีการเรียกร้องมาตั้งแต่เหตุโศกนาฏกรรมสึนามิ เมื่อปี 2547 และถูกเรียกร้องซ้ำหลายครั้ง ทั้งเวลาที่เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อย่างน้ำท่วม หรือกรณีอาชญากรรมสะเทือนขวัญอย่างกรกราดยิงที่ห้างดังเมืองโคราช
สุดท้ายมีคำตอบจากฟากฝั่งรัฐบาลว่าระบบการแจ้งเตือนภัยที่ส่งตรงไปยังโทรศัพท์มือถือของทุกคนพร้อมกัน ที่ทำผ่าน Cell Broadcast นั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในปัจจุบันใช้วิธีการส่งข้อความสั้น(sms) ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนครั้งการส่ง ที่ส่งได้ครั้งละประมาณ 200,000 หมายเลขเท่านั้น และจะมีปัญหาหากสัญญาณมือถือล่ม
ปริญ มานะอาภรณ์ นักธุรกิจ, อดีตนักวิชาการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งคำถามถึงรัฐบาลและ กสทช. ในประเด็นดังกล่าวว่า
“ขออนุญาตรอ กสทช. + รัฐบาล ออกมาชี้แจงดีกว่าครับ เพราะผมเองก็เป็นแค่คนธรรมดาที่รู้ข่าวสารทั่ว ๆ ไป วิเคราะห์เองก็คงถูก ๆ ผิด ๆ แถมข้อมูลก็อาจจะมั่ว ๆ
ผมก็เลยแค่อยากตั้งคำถาม จากข้อมูลมั่ว ๆ ของผม ว่า
1.) ทำไมเรายังต้องพึ่ง Point-to-point SMS Broadcast ซึ่งเป็น Traditional System ที่มีข้อจำกัดด้าน Throughput (กสทช. บอกว่าของไทยรองรับ 200,000 ข้อความต่อ 15 นาที) อยู่เพียงระบบเดียว ทั้งที่ระบบมือถือตั้งแต่ 2G เป็นต้นมา ก็น่าจะรองรับเทคโนโลยีแบบ Cell Broadcasting ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก ไม่ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ ไม่ติดข้อจำกัดในกรณีที่มี Traffic Congestion และใช้เป็น Alert System ทั่วโลกอยู่แล้ว
2.) ทำไม กสทช. ไม่กล้าออกกฎระเบียบบังคับให้ Telecom Operators ต้องลงทุนในระบบเพื่อรองรับการทำงานแบบ Cell Broadcast หรือต้องรองรับการเชื่อมต่อระบบกับ ปภ. หรือหน่วยงานของรัฐได้โดยตรงสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่ กสทช. มีอำนาจและงบที่มากเกินพออยู่ในมือมาเป็นสิบปีแล้ว [EDITED: มีขยายความด้านล่างเพิ่มครับ]
3.) ทำไม กสทช. ซึ่งมีเงินในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือกองทุน USO น่าจะราว ๆ 6 หมื่นล้านบาท ถึงไม่เคยถูกนำมาใช้พัฒนาระบบที่จำเป็นเหล่านี้เลย แต่สามารถนำไปแจกให้คนมาขอเงินไปทำการวิจัยและพัฒนาโครงการต่าง ๆ เต็มไปหมด ที่ประชาชนตาดำ ๆ อย่างผม ไม่รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์อะไรเลย แถมใช้ไปปีละหลายพันล้าน
4.) ทำไม กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เดียวในประเทศไทย ที่ถูกเขียนกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังกำหนดให้ “มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน” นั่นคือ ไม่ขึ้นตรงกับนายกฯ รัฐบาล กระทรวง ครม. หรือแม้แต่รัฐสภา เรียกได้ว่า “เป็นองค์กรที่เกือบอิสระเท่ากับศาล” โดย สว. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. แต่! ไม่มีใครเลยที่มีอำนาจถอดถอน กสทช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ (เพิ่งแก้กฎหมายกันไปตอนก่อนหมดยุครัฐบาลประยุทธ์)
5.) ทำไม DE และ ปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควรมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ดันมีอำนาจตามกฎหมายไม่ครอบคลุม ไม่มีงบประมาณ ดำเนินการเองไม่ได้ ต้องไปขอพึ่งงบกองทุน กทปส. ของ กสทช
6.) ทำไม ครม. และ DE ถึงโยนให้ NT เป็นผู้ดูแลและพัฒนาระบบ Cell Broadcadting Center (CBC) ที่เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการสำหรับการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินของประเทศ และตอนนี้ NT จ้างบริษัทเอกชนรายไหนให้พัฒนาระบบดังกล่าวด้วยงบประมาณหลายร้อยล้าน (เริ่มต้นที่ 261 ล้านบาท)
7.) ทำไมคนไทยถึงต้องซวย ต้องคอยแบกรับผลกระทบและความเสียหายต่าง ๆ นานา ถูกปิดหูปิดตา และถูกชักจูงให้ไปทะเลาะ ไปด่ากันเองเป็นกลุ่มเป็นพรรคเป็นพวก ทั้ง ๆ ที่คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลย
สุดท้ายนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า คำถามเหล่านี้ ผมตั้งขึ้นเองจาก “ความไม่รู้” และ “ข้อมูลที่อาจจะผิด ๆ” เพราะผมเป็นคนนอกวงการ
ผมคิดว่าคำถามเหล่านี้ คงจะไม่มีคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือคนที่รู้เหตุผลและข้อมูลที่แท้จริง จะออกมาให้คำตอบหรือข้อมูลที่ถูกต้องได้ทั้งหมด
แต่ในฐานะประชาชนที่ไม่รู้เรื่องอะไร จ่ายทั้งภาษี ทั้งค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และเป็นส่วนนึงที่ทำให้ Telecom Operators และ กสทช. “มีกินมีใช้” มาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็ขอใช้สิทธิ์ในการตั้งคำถาม (เพราะขอตรวจสอบก็คงยาก) หน่อยละกันครับ
ปล. ไม่มีการพาดพิง ให้ร้ายป้ายสี หรือจงใจให้เกิดความเสียหายกับใครและหน่วยงานใดทั้งสิ้นครับ”
พร้อมทั้งขยายความเพิ่มสำหรับข้อ 2 ว่า
“เห็นหลายคนแจ้งว่า Telecom Operators ทำในส่วนของ CBC เสร็จแล้ว แต่เท่าที่ผมเห็นในข่าว คือ กสทช. พึ่งอนุมัติงบ 1,030 ล้านบาท สนับสนุนให้ค่ายมือถือทำ Cell Broadcast ไปเมื่อกลางปี 2567 นี้เอง
จริง ๆ ประเด็นที่ผมตั้งใจอยากถาม คือ เรามี กสทช. มีงบกองทุน มีเทคโนโลยีรองรับ มาเป็น 10 ปีแล้ว ทำไมถึงพึ่งมาเริ่มทำปีที่แล้วเหรอครับ? ผมคิดแค่ว่า อย่างน้อย ๆ ถ้าเราเริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงโควิด ก็น่าจะเสร็จทั้งระบบแล้วไหมครับ?”