กทม.ปรับระบบ Traffy Fondue รับเรื่องอาคารร้าวกว่า 5,500 เคส
กทม.ปรับระบบ Traffy Fondue รับเรื่องอาคารร้าวกว่า 5,500 เคส

กทม. ปรับระบบ Traffy Fondue ตอบสนองความกังวลของประชาชนเรื่องรอยร้าวอาคาร แค่ 24 ชั่วโมงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วกว่า 5,500 เคส ระดมวิศวกรอาสา 100 ชีวิตลงพื้นที่เร่งด่วน
(29 มี.ค. 68) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเปิดรับแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารจากประชาชนผ่าน Traffy fondue ว่า เราได้เรียนรู้จากเมื่อวานที่มีเคสแจ้งรอยร้าว หรือความเสียหายของตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหว ผ่าน Traffy fondue เข้ามากว่า 2,100 เคส วันนี้ผ่านไปครึ่งวันกลายเป็น 5,000 กว่าเคส เพราะประชาชนเริ่มตื่นตัว ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือในอาคารเดียวกันจะมีนิติบุคคลอาคารชุด หรือเจ้าของอาคารที่ต้องมีการตรวจประจําปีอยู่แล้ว
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงสั่งการให้มีการตรวจอาคาร โดยเจ้าของอาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้น และเป็น 9 ประเภทที่ต้องมีการตรวจสอบประจําปีอยู่แล้ว ให้รีบไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากแผ่นดินไหวโดยเร็วที่สุด แล้วให้รายงานมาทุกวัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้วิศวกรอาสา เพราะอาคารไหนที่เกิน 8 ชั้น เราสามารถให้นิติบุคคล รับผิดชอบตรงนี้ได้
สำหรับแนวทางการตอบคำถามประชาชนที่ส่งเข้ามาเรื่องประเมินความเสียหายอาคาร ได้ประชุมกับทีมว่าประชาชนยังร้องเรียนได้เหมือนเดิม แต่แนวทางการตอบจะต้องชัดเจน สำหรับอาคาร 8 ชั้นขึ้นไปจะแบ่งเป็น 3 เคส
เคสที่ 1 ถ้าเป็นผนังร้าวหรือสิ่งที่เห็นแล้วว่าไม่กระทบโครงสร้าง วิศวกรจะชี้แจงว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง สามารถเข้าอยู่ได้ และให้ปิดเรื่องเป็นเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจ้งว่ากทม. ได้สั่งการไปแล้ว ตัวนิติบุคคลก็จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง
เคสที่ 2 คือมีความก้ำกึ่ง เราจะมีการตอบไปเหมือนเหมือนเคสแรก แต่จะทดเรื่องไว้แล้วให้วิศวกรเราเข้าไปตรวจสอบ ส่วนเคสที่ 3 ดูรูปแล้วเห็นเลยว่ากระทบโครงสร้างเข้าอยู่ไม่ได้ ก็จะตอบว่าอาศัยไม่ได้ จากนั้นทีมวิศวกรจะรีบเข้าไปอย่างเร็วที่สุดและจะแจ้งนิติบุคคลด้วย อีกเคสคือบ้านที่ต่ำกว่า 8 ชั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้มีผลกระทบมาก หากประเมินแล้วว่าไม่เป็นไร วิศวกรจะตอบว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง ปิดเรื่องได้ แต่หากดูแล้วว่าอาจเป็นอันตราย วิศวกรอาสาในพื้นที่ก็จะลงไปตรวจ
ทั้งนี้ เนื่องจากมีประชาชนสนใจส่งเคสมาเยอะขึ้น วันนี้วิศวกรอาสาจึงตบเท้าเข้ามาเสริมทัพมากขึ้น และได้มีการแบ่งงานให้เป็นระบบมากขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมที่มีใบ วย. หรือ วุฒิวิศวกรโยธา จะให้มาดูเคสยาก ส่วนอีกทีมจะดูเคสที่ไม่ยาก ตอนนี้ต้องรีบปิดเคสที่ส่งเข้ามากว่า 5,500 เคสแล้ว และได้ตั้งทีมกลางจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) คอยรับข้อมูลจากวิศวกรอาสาที่ลงพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มี 2,000 กว่าเคสที่ส่งเข้ามา พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 700 เคส ที่ต้องลงไปดูอาคาร โดยจากการลงพื้นที่พบว่าบางครั้งหลาย ๆ เคส รวมแล้วเป็นตึกเดียวกัน ล่าสุดก่อนเที่ยงวันนี้ลงพื้นที่ตรวจไป 28 เคส ตรวจเสร็จแล้ว 7 เคส ซึ่งอาจมีมากกว่านี้แต่ยังไม่สะดวกรายงานข้อมูลเข้ามา
“ได้ยินเสียงชื่นชมจากประชาชนเข้ามามาก ถึงการจัดการรับเรื่องผ่านทาง Traffy fondue ของกทม. ต้องขอบคุณความร่วมมือจากวิศวกรจากหลากหลายที่ บ้านเราไม่ได้ขาดคนเก่ง เรารวบรวมวิศวกรจากหน่วยงานราชการมาหมด แต่เมื่อเกิดเหตุวิกฤตก็อาจไม่เพียงพอจึงมีวิศวกรอาสามาช่วย ซึ่งรวมตัวกันมาได้รวดเร็วและร่วมทำงานหามรุ่งหามค่ำ รู้สึกดีใจที่วิชาชีพวิศวกรสามารถเป็นที่พึ่งและพร้อมช่วยเหลือประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นรอยร้าว หรือ ความเสียหายตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหว สามารถแจ้งได้ง่าย ๆ ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน แค่แอดไลน์ผ่าน Line @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://page.line.me/105rlyvn ก็สามารถส่งรูป พิกัด และรายละเอียดได้ครบจบในที่เดียว โดยขั้นตอนการแจ้งรอยร้าวอาคารผ่าน LINE OA
ขั้นตอนการแจ้งเรื่องรอยร้าวอาคารหลังแผ่นดินไหวผ่าน Traffy Fondue
- แอดไลน์: @traffyfondue
- เลือกเมนู “แจ้งรอยร้าวอาคาร” จากเมนูด้านล่าง
- ระบุข้อมูลและแนบรายละเอียด ดังนี้ ลักษณะของอาคาร (เช่น บ้านเดี่ยว ตึกแถว อาคารสูง ฯลฯ) ความสูงของอาคาร (เช่น 2 ชั้น 5 ชั้น อาคารสูง 80 ชั้น) ขนาดของรอยร้าว (ระบุเป็นมิลลิเมตร) ชั้นที่พบรอยร้าว เบอร์โทรเพื่อติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ พร้อมรูปภาพหลายมุม ทั้งมุมกว้างและมุมแคบ และแชร์พิกัด (Location) ของท่าน
- รอเจ้าหน้าที่ตอบกลับเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
