ในไทยเจอติดเชื้ออหิวาต์แล้ว 4 - สธ.เตรียมยา-วัคซีนช่วยเมียนมา
ในไทยเจอติดเชื้ออหิวาต์แล้ว 4 - สธ.เตรียมยา-วัคซีนช่วยเมียนมา
สถานการณ์อหิวาตกโรคระบาด ในไทยยังไม่น่าห่วง แม้เจอแล้ว 4 ราย แต่ยังควบคุมได้ ส่วนที่เมียนมาหนักกว่าติดเชื้อราว 7,000 คน สาธารณสุขเตรียมส่งยาต้านฯ ช่วยเมียนมา ควบคุมไม่ให้ระบาดข้ามแดนมาไทย
(24 ธ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาลนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคอหิวาตกโรคตามพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะอยู่ติดกับชายแดนของประเทศเรา
จากข้อมูลที่เมืองของเมียนมา ทั้งเมืองย่างกุ้ง ยะไข่ มันดาเลย์ รวมถึงรัฐมอญ ที่ประเมินดูแล้วพบผู้ติดเชื้อประมาณ 7,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนบริเวณชายแดนของประเทศไทยที่ติดกับอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ติดกับเมืองก๊กโกของเมียนมา มีผู้ติดเชื้อประมาณ 300 คน ส่วนในอำเภอแม่สอดที่เป็นเขตควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อ 4 คน เป็นชาวเมียนมา 2 คน ส่งกลับประเทศแล้ว และคนไทย 2 คน ยังไม่พบการแพร่เชื้อซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์
ส่วนการช่วยเหลือเมียนมาทางประเทศไทยได้ส่งยาผ่านไปทางโรงพยาบาลแม่ระมาดจำนวน 24,000 เม็ด ซึ่งสามารถใช้ได้ประมาณ 2,400 คน และ ในส่วนกรมควบคุมโรคได้มีการเตรียมวัคซีน 1,482 โดส และในสัปดาห์หน้าจะมีการเตรียม อีกจำนวน 3,500 โดส โดย1 คนจะใช้วัคซีน จำนวน 2 โดส ซึ่งระยะห่างในการใช้คือ 1 สัปดาห์ต่อ 1 โดส และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ 6 เดือน
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำประชาชนในเรื่องของการรับประทานอาหาร ต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกมีความร้อน กว่า 74 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นน้ำต้ม ก็ต้องอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส ไม่มีการติดต่อทางลมหายใจและโรคนี้ไม่มีการติดต่อทางลมหายใจ และขอเน้นย้ำในเรื่องของการล้างมือให้สะอาด หากไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือไปรับประทานอาหารร่วมกันต้องแจ้งกับแพทย์ให้สืบสวนโรค
ทางด้าน นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมอหิวาตกโรคที่ระบาดในเมืองชเวก๊กโก ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายแดนไทย จ.ตาก ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสถานการณ์ จึงมอบหมายให้ตนพร้อมกับ นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1-21 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยรวม 132 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 39 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นสัญชาติเมียนมา
ส่วนในประเทศไทย ล่าสุดพบผู้ป่วยอหิวาตกโรคเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแม่สอดจำนวน 4 ราย เป็นชาวเมียนมา 2 ราย และคนไทย 2 ราย โดยตรวจพบเชื้อ Vibrio Cholerae O-1 Ogawa ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในเมียนมา
“จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในผู้ป่วยชาวเมียนมา 2 รายแรก พบว่าทั้งคู่ได้ซื้ออาหารจากร้านเดียวกัน เมื่อตรวจเชิงรุกด้วย Rectal Swab พบผลบวกในคนไทย 1 ราย ที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกันแต่ไม่มีอาการส่วนผู้ป่วยชาวไทยอีก 1 ราย ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับ 3 คนแรก สันนิษฐานว่าน่าจะรับประทานอาหารที่นำมาจากเมียวดี” นพ.สุภโชคกล่าว
นพ.สุภโชคกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลแม่สอดได้เตรียมความพร้อมเรื่องการดูแลรักษา โดยแยกจัดบริการผู้ป่วยท้องเสียโดยเฉพาะทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จัดทำแผนรองรับกรณีมีผู้ป่วยท้องเสียรุนแรงจำนวนมากตามมาตรฐานการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จัดทำแนวทางการรักษาและการค้นหาเชิงรุกให้กับสาธารณสุขในพื้นที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยท้องเสียทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ เตรียมพร้อมยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ รวมถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาและน้ำดื่มในพื้นที่ พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรฐานน้ำประปาและให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาเพื่อยกระดับความมั่นใจให้กับประชาชน และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบน้ำดื่มและน้ำแข็งตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยแก่ผู้บริโภค
และในการตรวจเยี่ยมตลาดสด ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนให้ช่วยกันดูแลสุขอนามัย น้ำสะอาด และระบบสุขาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด เข้มงวดมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบจุดผ่านแดนและกระบวนการคัดกรองผู้เดินทาง โดยกำชับมาตรการที่ด่านอาหารและยาและด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
กระทรวงสาธารณสุขมีการเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ย้ำว่าอหิวาตกโรคไม่ใช่โรคใหม่ สามารถรักษาได้ และสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางด้านสุขอนามัยที่กำหนด โดยเฉพาะการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือเนื่องจากการสัมผัสเชื้อจะมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1) คน โดยเฉพาะมือของผู้ประกอบอาหาร ป้องกันได้ด้วยการล้างมือด้วยสบู่ที่ถูกต้องก่อน-หลังรับประทานและเข้าห้องน้ำ 2) อาหารและน้ำ ต้องเน้นอาหารปรุงสุก น้ำดื่มสะอาด และ 3) สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารและน้ำ เช่น ระบบสุขาภิบาล ประปา ตลาดสด ต้องทำให้สะอาดและได้มาตรฐาน นพ.สุภโชคกล่าวในตอนท้าย