ย้อนดูจุดเริ่มต้นคดี 40 สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน “เศรษฐา”

ย้อนดูจุดเริ่มต้นคดี 40 สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน “เศรษฐา”

71614 ส.ค. 67 13:02   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

จากคดี “ถุงขนม 2 ล้าน” เมื่อ 16 ปีก่อน สู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ไล่เรียงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนศาลฯ จะอ่านคำวินิจฉัย

อีก 1 คดีประวัติศาสตร์ ที่คอการเมืองจับตาดูอย่างใกล้ชิด นั้นหนีไม่พ้นคดีที่วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 40 คน เข้าชื่อยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังเมื่อเดือน เมษายน 2567 นายเศรษฐาได้แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยากหนัก จากคดีในอดีตของนายพิชิต ที่ทำให้ถูกตั้งฉายาให้ว่า “ทนายถุงขนม”


ย้อนกลับไปช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 ที่ยึดอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังยึดอำนาจสำเร็จ นายทักษิณ พร้อมด้วยครอบครัว ถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการคอรัปชันหลายคดี หนึ่งในนั้นคือคดีที่ดินรัชดา ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่คุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยนายทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส


ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีที่ดินรัชดาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2550 จากนั้นในวันที่ 28 ก.พ. 2551 นายทักษิณและคุณหญิงพจมาน เดินทางกลับมาจากการลี้ภัยในต่างประเทศ และได้ขึ้นศาลเพื่อสู้คดีดังกล่าว


วันที่ 10 มิ.ย. 2551 นายทักษิณเดินทางมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างนั้นมีทีมทนายความนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ศาล แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น


หลังจากนั้นมีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนเงินของกลางได้คืนแก่ทีมทนายความไป ศาลได้แจ้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับทีมทนายความซึ่งมีนายพิชิตเป็นหัวหน้าทีม และไต่สวนข้อเท็จจริง กระทั่งวันที่ 25 มิ.ย. 2551 ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำคุกนายพิชิต กับพวก คนละ 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล จนพ้นโทษเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551


หลังพ้นโทษ นายพิชิตยังคงรับหน้าที่เป็นทนายความให้กับตระกูลชินวัตร และในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2554 นายพิชิตลงรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 53 ของพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกเป็น สส. ซึ่งนี่กลายมาเป็น 1 ในข้อต่อสู้ทางกฎหมายในภายหลังของเขา


เวลาผ่านเลยไปจนถึงปี พ.ศ.2566 หลังจากรัฐสภาโหวตรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนสิงหาคม 2566 ชื่อของนายพิชิตก็กลับมาอยู่ในหน้าข่าวการเมืองอีกครั้ง หลังมีข่าวว่านายเศรษฐาวางตัวนายพิชิตไว้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีกระแสต่อต้านออกมาโดยยกเอาเรื่อง “คดีถุงขนม 2 ล้าน” ขึ้นมาระบุว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ


ก่อนที่นายพิชิตจะประกาศไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าการขอถอนตัวไม่รับตำแหน่งของนายพิชิตในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะขาดคุณสมบัติ แต่เป็นเพราะไม่อยากให้นายเศรษฐาต้องมาคอยตอบคำถามเรื่องการแต่งตั้งตนเอง อยากให้การทำงานของรัฐบาลนั้นราบรื่นและคล่องตัว


หลังจากนั้นในอีก 1 ปีถัดมา หลังความพยายามครั้งแรกที่จะแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีไม่เป็นผล ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของนายเศรษฐา ก็ปรากฏชื่อของนายพิชิตอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คราวนี้ไม่ได้มาเป็นโผ แต่เป็นการเซ็นแต่งตั้งทันที นายพิชิตเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 28 เม.ย. 2567


เสียงคัดค้านดังขึ้นในทันที โดยในวันที่ 29 เม.ย. 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. กรณีนายเศรษฐา แต่งตั้ง นายพิชิต ส่อกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ โดยระบุว่า นายพิชิต เคยถูกสภาทนายความ ถอดชื่อจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ 5 ปีมาแล้ว หลังจากถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือนในคดีละเมิดอำนาจศาล


จากนั้นวันที่ 15 พ.ค. 2567 สว.จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา และตำแหน่งรัฐมนตรีของนายพิชิต


ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ 40 สว. เข้าชื่อยื่นร้องมาหรือไม่ นายพิชิต ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 21 พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 23 วัน หลังได้รับตำแหน่ง


ต่อมาในวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมาก รับคำร้องของ 40 สว. เฉพาะในส่วนของนายเศรษฐา เท่านั้น โดยให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ส่วนกรณนายพิชิตนั้น ศาลเห็นว่าลาออกจากตำแหน่งแล้ว การเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้


นายเศรษฐาได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 มิ.ย. 2567 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้ตรวจคำชี้แจงให้ ขณะที่นายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องความมั่นใจในคำชี้แจงดังกล่าว โดยระบุว่าไม่ต้องการก้าวล่วงการวินิจฉัยของศาล แต่ทำคำชี้แจงเสร็จแล้ว ต้องให้ให้เกียรติศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน


หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีการนัดเพื่อถกถึงคดีดังกล่าวรวมถึงมีการเรียกขอพยานเพิ่ม กระทั่งวันที่ 24 ก.ค. 2567 ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาและอ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ในวันที่ 14 ส.ค. 2567


ทั้งนี้ตัวนายพิชิตก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ยกข้อโต้แย้ง 3 จุดขึ้นมาชี้ว่าตนเองนั้นไม่ขาดคุณสมบัติ ได้แก่


ประเด็นที่ 1 นายพิชิตเคยเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อมาก่อน เมื่อ 2554 ได้รับคำรับรองจาก กกต.แล้ว โดยในปีนั้นก็เคยมีคนร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติของเขามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กรณีที่เขาถูกร้องเรียนเป็นความแพ่ง และเป็นการออกคำสั่งในทางแพ่ง ไม่ใช่ต้องคำพิพากษาคดีอาญา


ประเด็นที่ 2 นายพิชิตไม่เคยต้องโทษจากคดีให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล โดยเขาถูกแจ้งข้อหาในปี 2552 จริง แต่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด


ประเด็นที่ 3 การถูกสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่ความผิดทางอาญา เป็นการลงโทษโดยกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้วศาลนำมาใช้ เขาระบุว่า การละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก ก็มิใช่คำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง