"2 เขื่อนหลัก" พี่เลี้ยงลำตะคอง มีน้ำเพียงครึ่งเดียว เสี่ยงมีปัญหาหน้าแล้ง

"2 เขื่อนหลัก" พี่เลี้ยงลำตะคอง มีน้ำเพียงครึ่งเดียว เสี่ยงมีปัญหาหน้าแล้ง

17527 ก.ย. 67 12:29   |     Tum1

"2 เขื่อนหลัก" พี่เลี้ยงลำตะคอง ยังไม่พ้นวิกฤติเสี่ยงมีปัญหาหน้าแล้ง ล่าสุดมีน้ำเพียงครึ่งเดียว ตั้งหน้ารอฝนสุดท้ายของปี

ที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 27 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่งผลดีทำให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนมูลบน และเขื่อน 2 ใน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิน 50 % ของความจุแล้ว 

โดยล่าสุดปริมาณน้ำภายในเขื่อนลำแชะ อยู่ที่ 144 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุกักเก็บทั้งหมดที่ 275 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 52.5 ของความจุ และ เขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุ ที่ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ ทั้ง 2 เขื่อนยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการส่งน้ำ เพื่อให้พื้นที่การเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำภายในเขื่อนตอนนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้



นายพงศ์ฤทธิ์ ชื่นอารมณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ และนายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในเขื่อนตอนนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เพราะยังมีภาระที่จะต้องส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรท้ายเขื่อนอีกประมาณ 1 เดือน ในขณะที่ฤดูฝนก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว และด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่ในตอนนี้ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาในการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้าได้  

โดยเฉพาะตอนนี้ น้ำภายในเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ยังมีปริมาณน้ำน้อยเพียงแค่ 30 % เท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าในช่วงฤดูแล้งหน้า ทั้งเขื่อนมูลบน และเขื่อนลำแชะ จะต้องส่งน้ำไปสนับสนุนให้กับการประปาส่วนภูมิภาคนครราชสีมา รวมถึงเทศบาลนครนครราชสีมา เหมือนเช่นฤดูแล้งที่ผ่านมา ซึ่งก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำของทั้ง 2 เขื่อน มีอุปสรรคมากเพิ่มขึ้นไปอีก 



ทั้งนี้ ทำได้เพียงหวังว่า ก่อนที่จะสิ้นสุดฤดูฝนในพื้นที่ อ.ครบุรีจะมี "พายุจร" เข้ามา และทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้น เพื่อเติมน้ำให้กับทั้งเขื่อนลำแชะและเขื่อนมูลบน ให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากจะเป็นเรื่องที่ดีและให้การบริหารจัดการน้ำของทั้ง 2 เขื่อน ไม่เกิดปัญหา ประเมินว่าจะต้องมีน้ำต้นทุนภายในเขื่อนประมาณ 70 – 80 % ขึ้นไป ก่อนที่จะสิ้นสุดฤดูฝนนี้




TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง