แค่ 11 วัน มีแจ้งเด็กหาย 11 คน - ‘กระจกเงา’ เล่า 10 เรื่องเด็กหาย
แค่ 11 วัน มีแจ้งเด็กหาย 11 คน - ‘กระจกเงา’ เล่า 10 เรื่องเด็กหาย
แค่ 11 วัน ‘กระจกเงา’ ได้รับแจ้งเคสเด็กหายแล้ว 11 ราย เฉลี่ยเด็กหายออกจากบ้านวันละคน - เจอเด็กถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เด็กสุดแค่ 14 ขวบ
(11 ม.ค. 68) เพจ “ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา” โพสต์ข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับกรณีเด็กหายออกจากบ้าน โดยระบุว่า “ปีนี้รับแจ้งเด็กหายแล้ว 11 คน เฉลี่ยมีเด็กหายจากบ้านทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 คน”
ก่อนที่จะมีการขยายความเพิ่มว่า “วันนี้ ทีมงานรับแจ้งเด็กหายสองราย อายุสิบหกปีทั้งสองราย รายแรก มีแนวโน้มไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (รอรายละเอียดเพิ่มเติม) รายสอง สมัครใจหนีออกบ้าน โดยเขียนจดหมายทิ้งไว้ อยากไปใช้ชีวิตเอง”
นอกจากนี้ยังได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติเด็กหายออกจากบ้าน 10 เรื่อง
“เรื่อง เล่า ‘เด็กหาย’ ในวันเด็ก
1.ปีที่แล้ว เด็กถูกลักพาตัวอายุน้อยที่สุด เพียง 9 เดือน
2.มีเด็กพัฒนาการช้า ออทิสติก จมน้ำเสียชีวิตหลายราย จากแหล่งน้ำใกล้ที่พักและโรงเรียน
3.เด็กถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อายุน้อยสุด 14 ปี
4.มีเด็กวัยรุ่นหญิง ถูกชายรุ่นพ่อ ปลอมเฟซบุ๊คเป็นวัยรุ่นมาหลอกแล้วพาตัวไป
5.มีเด็กอ้างว่าถูกลักพาตัว แต่ข้อเท็จจริงภายหลังคือหนีเที่ยว
6.เด็กหนีออกจากบ้าน = หลุดจากการศึกษา ยากมากจะกลับเข้าโรงเรียน
7.เด็กวัยรุ่นหนีจากบ้านมีปัญหาพฤติกรรม หน่วยงานรัฐไม่มีกระบวนการแก้ไข มักรีบผลักกลับบ้านให้ไวที่สุด ทั้งๆที่เด็กหนีออกมาจากบ้าน
8.ปีที่แล้วเด็กหนีออกจากบ้านอายุน้อยที่สุด 7 ขวบ
9.ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ ทุกสาเหตุการหายตัวไปของเด็ก
10.มีเด็กหายอีกหลายรายที่ยังไม่ได้กลับบ้าน และไม่รู้ว่าอยู่ไหน”
ทั้งนี้ วานนี้(10 ม.ค.) นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายมูลนิธิกระจกเงา รายงาน “สถานการณ์เด็กหาย จากสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง 6% สาเหตุหลักกว่า 72% หรือ 227 ราย คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 9% หรือ 29 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 รายในปีที่ผ่านมา
โดยช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน พบมากที่สุดคือช่วง อายุ 11-15 ปี รวม 171 ราย รองลงมาคืออายุ 16-18 ปี รวม 103 ราย และช่วงแรกเกิดถึง10 ปี รวม 40 ราย สามารถพบตัวเด็กจากการสืบสวนได้มากถึง 85%
นายเอกลักษณ์ยังเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566-2567 ที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชน ถูกชักชวน ชักจูง หลอกไปทำงานแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 11 ราย โดยอายุน้อยที่สุดที่ถูกหลอกไปทำงานมีอายุเพียง 14 ปี ลักษณะของการล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะหลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเวบไซต์ รายได้ 15,000 บาท ภายหลังจึงพบว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์
เบื้องต้นทางมูลนิธิได้รับแจ้งเด็กถูกแก็งค์คอลเซนเตอร์ลวงไปทำงาน 11 คนนี้ ช่วยกลับมาได้ 9 คน มี เด็ก1 คนติดเรือนจำกัมพูชา ในข้อหายาเสพติดเพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดด้วย ส่วนอีก 1 คน มีความประสงค์ทำงานต่อ
โดยกระบวนการหลอกเด็กไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นจะมีเป้าหมายหลักมุ่งไปที่เยาวชนอายุ 15-25 ปี ที่ส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา และอยากมีรายได้ บางส่วนผ่านการชักชวนโดยเพื่อนหรือมีบุคคลที่รู้จักชักจูงให้ไปทำงาน ทั้งรู้และไม่รู้ว่าต้องไปทำอะไร บางรายถูกหลอกไปและให้ญาติจ่ายค่าไถ่ แต่ไม่คืนเด็ก
โดยพฤติการณ์เริ่มต้นจะมีการประกาศรับสมัครงานแอดมินเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้เด็กที่อยากมีรายได้หลงเชื่อได้ง่ายหลงเชื่อได้ง่าย จากนั้นก็จะมีการพาตัวเด็กพาไปผ่านช่องทางธรรมชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไปทำงานเป็นหนึ่งในกระบวนการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ โดยจะให้เด็กปลอมเป็นตำรวจบ้าง และนายธนาคารบ้าง ซึ่งจะมีการให้เด็กอ่านตามสคริปต์ โดยวันแรกเป็นการอ่านท่องจำสคริปต์ วันที่สองให้ฟังคนที่โทรไปหลอก และวันที่สามให้เด็กเริ่มทำงาน
จากกรณีตัวอย่าง เด็กเล่าว่า เดือนแรกเด็กไม่ประสบความสำเร็จ มาเริ่มหลอกคนได้ในช่วงเดือนที่ 2-3 เดือนแรกได้เป็นเงินเดือน เดือนที่สองไม่ได้เงินเดือน ดังนั้นเดือนที่สองจำเป็นจะต้องหลอกคนให้ได้ โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่เด็กได้เงินค่าคอมมิชชั่นเป็นช่วงที่เด็กหลอกคนหลายรายได้ 200,000 บาท และได้เงินส่วนแบ่งมาอีก 10,000
ซึ่งเด็กไปหลอกพระ จนพระมีการโอนเงินมาหลายครั้ง แต่เด็กรู้สึกผิดบาปเนื่องจากเป็นการหลอกแบบวิดีโอคอล จึงไม่อยากทำต่อ หลังจากนั้นก็เริ่มถูกกดดันทำให้เด็กหาช่องทางในการติดต่อหาพี่ชาย และแจ้งเรื่องมาที่มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ใช้เวลา 2 วันในการพาตัวกลับมา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เด็ก 11 คน ถูกทรมานร่างกายด้วยหรือไม่ นายเอกลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการถูกกดดันทางคำพูดให้ทำตามที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องการ แต่จะถูกทำร้ายร่างกายก็ต่อเมื่อเด็กอยากกลับบ้าน หรือว่าถ้ารู้ว่ามีการติดต่อญาติขอความช่วยเหลือ