คุมตัว "จ่าเอ็ม" สอบเข้มที่ สน.ชนะสงคราม ขอบคุณกัมพูชาให้ความร่วมมือ-จับตัวได้เร็ว

คุมตัว "จ่าเอ็ม" สอบเข้มที่ สน.ชนะสงคราม ขอบคุณกัมพูชาให้ความร่วมมือ-จับตัวได้เร็ว

44511 ม.ค. 68 17:56   |     Tum1

คุมตัว "จ่าเอ็ม" สอบเข้มที่ สน.ชนะสงคราม ขอบคุณกัมพูชาให้ความร่วมมือ-จับตัวได้เร็ว เบื้องต้นผู้ต้องหารับสารภาพทุกข้อหาตามหมายศาล

เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 11 ม.ค.68 พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ได้เดินทางมาถึงที่กองบินตำรวจ และเรียกฝ่ายสืบสวนสอบสวนทำการประชุมเตรียมความพร้อม ในการควบคุมตัวเคลื่อนย้ายนายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือ “จ่าเอ็ม” อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร , ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดซึ่งใช่เหตุในเมือง” ในคดียิงนายลิม กิมยา อายุ 73 ปี อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านของกัมพูชา เสียชีวิตบริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.68 ที่ผ่านมา หลังจากลงเฮลิคอปเตอร์ ซ฿งถูกส่งตัวมาจากประเทศกัมพูชา 

โดยการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเน้นย้ำกำชับไปยังที่หน่วยอรินทราช 26 ในฐานะเป็นกองกำลังที่จะรักษาความปลอดภัยตัวผู้ต้องหา และมีการซักซ้อมเตรียมแผนการเพื่อทำความเข้าใจ ในการที่จะส่งมอบตัวให้กับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ต่อไป


ต่อมาในเวลา 13.43 น. พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายเอกลักษณ์ มาถึงที่กองบินตำรวจ โดยขณะที่ลงจากเฮลิคอปเตอร์ นายเอกลักษณ์ได้สวมเสื้อยืด สีขาว และเสื้อเกราะกันกระสุน กางเกง สีน้ำตาล หมวก สีขาว พร้อมสวมหน้ากากอนามัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัวขึ้นรถตู้ สีขาว โดยมีรถคุ้มกันของหน่วยอรินทราช 26 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมกำลังพลของหน่วยอรินทราชพร้อมอาวุธครบมืออีกหลายนาย คอยดูแลความเรียบร้อย



พล.ต.ท.สมประสงค์ เปิดเผยว่า จากการซักถามเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ได้ข้อมูลอะไรชัดเจน เบื้องต้นตนมีหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหาเพื่อนำมาส่งต่อให้กับทางพล.ต.ท.สยาม ได้ดำเนินการนำตัวไปสอบสวนต่อ

สำหรับในประเด็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคนสั่งการ , การหลบหนีไปยังประเทศกัมพูชาว่ามีผู้ใดให้การช่วยเหลือหรือไม่ และเรื่องเส้นทางการเงิน 60,000 บาท ที่เข้ามายังบัญชีตัวผู้ต้องหา และสาเหตุแรงจูงใจในการก่อเหตุว่าจะเกี่ยวพันการเมืองหรือไม่ ตลอดจนตัวผู้ชี้เป้าและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดเนื่องจากในวันนี้ เพียงแค่ไปรับตัวผู้ต้องหามา ซึ่งหลังจากนำตัวส่งให้กับทาง บช.น.แล้ว กระบวนการสอบสวนจึงจะเริ่มขึ้น และจากที่ตนสังเกตสีหน้าของผู้ต้องหา พบว่ามีความเครียด แต่นิ่ง ไม่ได้พูดอะไร เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากการไปรับตัวผู้ต้องหามา และยืนยันว่า ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรกับประเทศกัมพูชา ในการรับตัวผู้ต้องหารายนี้



ด้าน พล.ต.ท.สยาม กล่าวว่า สำหรับการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องสอบปากคำตัวผู้ต้องหาและขยายผลเพิ่มเติมก่อน ว่ามีผู้ใดบ้าง หากพบผู้เกี่ยวข้องก็จะมีการดำเนินคดีแน่นอน ทั้งตัวน้องสาวและตัวคนชี้เป้า สำหรับข้อมูลของคนชี้เป้านั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เบื้องต้นทราบว่า เป็นชาวกัมพูชา หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ก็สามารถนำตัวของผู้ชี้เป้ามาดำเนินคดีได้ ส่วนเรื่องผลตรวจอาวุธปืนนั้น จะต้องรอข้อมูลจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานก่อน และจากการซักถามภรรยาของผู้เสียชีวิต ไม่รู้จักกับตัวผู้ต้องหา ซึ่งผู้เสียชีวิตและภรรยาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาเที่ยวเท่านั้น แต่การสังหาร น่าจะเป็นการวางแผนมาก่อน เพราะมีการล็อกเป้าอย่างชัดเจน ส่วนในแชทของผู้ต้องหาที่ระบุถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะต้องรอสอบสวนก่อน แต่เบื้องต้นตำรวจยังไม่ได้มีข้อมูลในเรื่องนี้


พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เล่าถึงเบื้องหลังการดำเนินการติดตามจับกุม "จ่าเอ็ม" ว่า ขอบคุณทางการกัมพูชาซึ่งถือเป็นความร่วมมือของนักสืบของทั้ง 2 ประเทศ การปฏิบัติงานในครั้งนี้ที่รวดเร็ว ซึ่งปกติการปฏิบัติงานในประเทศกัมพูชาจะต้องมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ แต่ในครั้งนี้ ผบ.ตร.ได้เป็นผู้ประสานงานกับทางการกัมพูชา จนทำให้เกิดความร่วมมือในการส่งตัวผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ของการส่งตัวไว เพราะในกระบวนการสอบสวน พยานหลักฐานต่างๆไม่หายไป ทำให้สามารถขยายผลไปทั้งขบวนการ และเชื่อว่าจะสามารถสาวไปถึงตัวการ และต้นตอได้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ตำรวจไทยที่เป็นผู้จับ แต่เป็นตำรวจกัมพูชาที่ดำเนินการจับกุมก่อนส่งตัวให้กับไทย ทางตำรวจไทยเพียงแค่ทำหน้าที่ประสานงาน


“ที่จริงแล้วผู้ต้องหาต้องถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง แต่ในขั้นตอนตามกฎหมายของกัมพูชา รัฐมนตรีมหาดไทยสามารถยกเว้น และผลักดันออกนอกประเทศได้” พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าว



เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ก่อเหตุพูดอะไรหรือไม่ หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า ยังไม่ได้เปิดปาก ซึ่งในการสอบสวนตามระบบจะต้องเป็นระบบส่วนตัวและมีห้องส่วนตัว ซึ่งผู้ก่อเหตุได้ร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ เนื่องจาก กังวลเรื่องความปลอดภัยจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ วันนี้จึงได้มีมาตรการในการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัย  


พล.ต.ต.ธีรเดช อธิบายด้วยว่า คดีที่เป็นมือปืนรับจ้าง ปกติจะใช้เวลาที่นานกว่านี้ถึง 5-7 วัน แต่วันนี้ยังไม่ถึง ชุดสืบสวนทำได้ถึงขนาดนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างหนึ่ง ซึ่งจะยกกรณีนี้เป็นโมเดลหรือไม่นั้น ต้องดูที่ปัจจัย เพราะปัจจัยต่างๆในแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน จึงขอเป็นตัวแทนชุดสืบสวนในการขอบคุณทางการกัมพูชา โดยเฉพาะชุดที่ให้ความร่วมมือในการจับกุม - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :






TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง