เกาะเต่า บ้านเรา น่าอยู่ น่าเที่ยว ยั่งยืน
เกาะเต่า บ้านเรา น่าอยู่ น่าเที่ยว ยั่งยืน
เปิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวเกาะเต่าอย่างยั่งยืน โดย บพข. ม.รามคำแหง ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะเต่าอย่างยั่งยืน และพัฒนากรอบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมดำเนินงานกับคุณรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า คุณวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า และคุณศิราณี อนันตเมฆ ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เกาะสุมย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะเต่าอย่างยั่งยืน และพัฒนากรอบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2567 ณ ศาลาปันรักษ์ แบนไดฟ์วิ่งรีสอร์ต เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช บรรยายเกี่ยวกับบทบาท บพข. ในการผลักดันการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับการท่องเที่ยวให้รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พร้อมกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. นำเสนอการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) และการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (Nature Positive Tourism) พร้อมทั้งแนะนำมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยสำหรับรองรับแนวโน้มตลาดการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อเกาะด่านหน้า กับ วิกฤตโลกรวน..ถ้าไม่สะดุ้ง อาจมีสะอื้น เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทุกภาคส่วนต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอการประเมินคุณค่าเกาะเต่า วัดระดับมาตรวัดมาตรฐานท่องเที่ยวยั่งยืนโลก เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวเกาะเต่ามีความยั่งยืน
ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอกรอบคิดและกลยุทธ์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกาะเต่าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2567 – 2570
คุณรัฎดา ลาภหนุน นักบูรณาการงานอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน คุณวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร และคุณไชยันต์ ธุระสุล อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า และคณะ ร่วมกับผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลากหลายองค์กรในการทบทวนแผน ปฏิญญา ข้อตกลงและกลไกขับเคลื่อน เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ทะเลและชายฝั่งของเกาะเต่าในรอบ 20 ปี คุณศิราณี อนันตเมฆ นำเสนอธุรกิจท่องเที่ยวเกาะ: สร้างคุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อกำหนดและทบทวนวิสัยทัศน์ “เกาะเต่า บ้านเรา น่าอยู่ น่าเที่ยว ยั่งยืน” ด้วยความร่วมมือของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่พัก ร้านอาหาร ร้านดำน้ำ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ โรงพยาบาลเกาะเต่า อสม. กลุ่มสตรี กู้ภัย กลุ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ศิลปะ ดนตรี และเทศกาล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาวะและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ชมรมประมงพื้นบ้านเกาะเต่า ชมรมครูดำน้ำไทยเกาะเต่า) กลุ่มธุรกิจให้บริการด้านการเดินทางและคมนาคมขนส่ง กลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ขยะ น้ำเสียและสิ่งปฏิกูล