กกต. ชี้แจงจำเป็นต้องยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล

กกต. ชี้แจงจำเป็นต้องยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล

13713 มิ.ย. 67 18:16   |     AdminNews

กกต.ชี้แจงกรณีขอให้สั่งยุบพรรคก้าวไกล "มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า"

วันนี้(13 มิ.ย.67)นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)แถลงข่าวชี้แจงกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้สั่งยุบพรรคก้าวไกลว่า อยากทำความเข้าใจถึงเหตุผลต่อการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ทำให้กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 (1) (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือว่ากกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว

"ถ้าขนาดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกับสังคมยาก"


นอกจากนี้เหตุที่ต้องยื่น เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับกกต.และมีผู้มาร้องเรียนในเรื่องนี้ กกต.จึงจำเป็นต้องยื่น ถ้ากกต.ไม่ยื่นคำร้องอาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้ อีกทั้งการยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นไปตามตามมาตรา 92 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน เพียงแต่ "มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า" ซึ่งกกต.ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีคำวินิจฉันยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเมื่อกกต. 


"มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา"


นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ขอทำความเข้าใจว่าการยื่นในครั้งนี้ยื่นตามมาตรา 92 ซึ่งระเบียบการไต่สวนของกกต.มี 2 ฉบับ ฉบับแรกคือระเบียบ2561 ใช้เป็นการทั่วไปใช้กับทุกกรณี หากพบว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และต้องทำ หรือมีการร้องเรียนเข้ามา แต่กรณีที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และแสดงพยานหลักฐานนั้น การดำเนินการตามมาตรา 93 เป็นกรณีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำ เมื่อมีการกระทำ นายทะเบียนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนเสนอความเห็นต่อกกต. ซึ่งมาตรา 93 ออกระเบียบไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 ซึ่งทั้งสองมาตรามีความแตกต่างกัน


"มีคำถามมากว่าเห็นด้วยที่มีการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต. มีการพูดคุยกันมาก และตอบได้อย่างเดียวว่า กกต. ไม่สามารถตอบได้ กกต. เป็นผู้ปฏิบัติต้องเคารพตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฏหมาย จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้ แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้กฎหมาย เช่น ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องยุบพรรคการเมือง กกต. แม้แต่จะคิดก็ยังไม่กล้าครับ นี่คือสิ่งที่เราทำตามกฏหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง บางครั้งอาจเข้าใจสับสนบ้าง แต่สิ่งที่เราอยากจะแถลงให้สื่อมวลชนพี่น้องประชาชนได้ทราบ ก็คือเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผลจะเป็นอย่างไร เราเคารพและรับฟังปฏิบัติตามดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเต็มที่"


เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลส่งคลิปที่ประธานกกต.ให้สัมภาษณ์ในทำนองยอมรับว่าการพิจารณาเรื่องยุบพรรคขัดต่อระเบียบและเป็นการข้ามขั้นตอน นายปกรณ์ กล่าวว่า สิ่งนี้จะต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคำให้สัมภาษณ์ของแถลง ไม่ใช่ตัดเฉพาะบางส่วนออกมา และที่พรรคฯแย้งว่ากกต.ต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ย้ำว่าการดำเนินการทั้งสองมาตราแตกต่างกัน


ส่วนที่พรรคก้าวไกลมองว่ากรณีของตนไม่อาจเทียบได้กับกรณีไทยรักษาชาติ นายปกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้อยู่ที่ศาลและกกต.เป็นคู่กรณีไม่อาจแสดงความเห็นได้ เราเคารพศาลอย่างยิ่ง


เมื่อถามว่าบัญชีพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่าเราได้ทราบคร่าวๆแล้ว แต่กำลังรอหนังสือจากศาลฉบับเต็มว่าจะให้ระบุอย่างไร และจะรีบปฏิบัติตามคำสั่งศาลทันที ส่วนนายอิทธิพร บุญประคอง จะเป็นหนึ่งในรายชื่อพยานหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง