‘ทนายเจมส์’ ท้าชนกลาโหม ฟ้องแพ่งคดีพลหารถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต
‘ทนายเจมส์’ ท้าชนกลาโหม ฟ้องแพ่งคดีพลหารถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต
‘ทนายเจมส์’ ฟ้องแพ่งกลาโหมและก๊วยทหาร 13 ราย ซ้อมทรมานพลทหารจนดับคาค่าย เผยพฤติกรรมสุดเหี้ยม เอาถุงพลาสติกคลุมหัว มัดแขนติดลูกกรงก่อนซ้อมยันเช้า แถมเจอสิบเวรสั่งตากแดดทั้งๆ ที่น่วมหมดทั้งร่าง
(16 ม.ค. 68) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ ในฐานะคณะอนุกรรมการคดีสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เดินทางมายื่นฟ้องในคดีที่ นางเรณู ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของนายยุทธกินันท์ ผู้ตายเป็น โจทก์ฟ้อง กระทรวงกลาโหมและทหารจำนวน 13 นาย เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 13 ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย 4,131,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 60 พลทหารภูวเดช จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกจำเลยซึ่งเป็นทหารรวม 11 นาย ได้ร่วมกันละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของพลทหารยุทธกินันท์ โดยทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยผู้ตายเป็นทหารกองประจำการรุ่นปี 2558 ผลัดที่ 1 กองร้อยมณฑลทหารบกที่ 45 ได้ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ประจำทหารสารวัตร
ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม ดื้อดึง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงถูกส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัดเดิม พร้อมลงทัณฑ์ในข้อหากระทำผิดวินัยทหาร ถูกจำขังเป็นเวลา 15 วัน เมื่อถูกนำไปขังที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 15 มี ส.อ.สุรเชษฐ์ จำเลยที่ 12 เป็นผู้คุมเรือนจำ ได้ทำการตรวจร่างกายพบว่าผู้ตายสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว แต่พบสารเสพติดในปัสสาวะ จึงนำตัวผู้ตายไปใส่เครื่องพันธนาการ (ตีตรวน) พร้อมรายงานให้ ร.ท.ฐิติกานต์ จำเลยที่ 13 โดยสั่งให้ผู้ตายออกกำลังท่าลุกหมอบจำนวน 300 ครั้ง วันละ 3 เวลา ซึ่งเป็นการทำโทษผู้ต้องขังใหม่
ต่อมาในวันเดียวกันเวลา 21.00 น.จำเลยที่ 4-11 นั่งดื่มสุราอยู่บริเวณม้านั่งหินอ่อนบริเวณเรือนจำกับจำเลยที่ 12-13 จนถึงเวลา 01.20 ของวันที่ 28 มี.ค. 60 ขณะผู้ตายนอนหลับอยู่หน้าห้องน้ำภายในห้องขัง จำเลยที่ 4, 5,7 และ 11 เดินเข้ามาปลุกให้ผู้ตายลุกขึ้น พร้อมกับปลุกผู้ต้องขังอีก 3 คน ได้แก่จำเลยที่ 8 9 และ 10 (พลทหาร) ให้เข้ามาหาผู้ตาย
โดยจำเลยที่ 5 สั่งให้จำเลยที่ 8,9,10 รุมทำร้ายผู้ตายนานถึง 5 นาที และยังสั่งให้ทั้งสามคนจับผู้ตายกดหัวให้ติดกับลูกกรงในห้องขังอยู่ในลักษณะที่ยืนกางแขน และใช้ผ้ามัดแขนให้ติดกับลูกกรงและสั่งให้ทั้งสามคนรุมทำร้ายผู้ตายนาน 4 นาที
จากนั้น จำเลยที่ 4 5 10 และ 11 ได้เข้ามารุมชกและใช้เท้าถีบผู้ตาย จากนั้นมีการสั่งให้รุมทำร้ายอีกหลายครั้ง ทำให้ผู้ตายมีอาการบาดเจ็บทุรนทุราย มีการใช้ถุงพลาสติกเจาะรูคลุมศีรษะผู้ตายนาน 1 นาที จนกระทั่งเวลา 02.01 นาฬิกาจำเลยทั้งหมดจึงออกจากห้องขังปล่อยให้ผู้ตายนอนเปลือยกายอยู่บนพื้น อีก 20 นาทีต่อมา จำเลยทั้งหมดเดินวนกลับมาทำร้ายผู้ตายอีกรอบ เมื่อถึงเวลา 03.40 นาที จำเลยที่ 8 9 และ 10 ใช้ผ้าขาวม้าผูกข้อเท้ากับลูกกรงในลักษณะห้อยศีรษะลงมา และนำผ้าขนหนูชุบน้ำมาปิดหน้าผู้ตาย
กระทั่งเวลา 06.00 น. ผู้ต้องขังทั้งหมดถูกเรียกจากอาคารนอนมารวมแถวเพื่อเช็คยอด พลทหารได้ช่วยกันปลดผู้ตายออกจากลูกกรง ตัดกางเกงที่พันตัวผู้ตายและช่วยกันพยุงออกมาจากเรือนนอน โดยสิบเวรได้สั่งให้ผู้ตายยืนตากแดดหน้าโรงอาหาร ผู้ตายมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย และแผลแตกบริเวณคิ้ว จนยืนไม่ไหวจึงนอนฟุบตรงพื้น
เมื่อจำเลยที่ 13 เดินมาเห็นกลับสั่งให้ผู้ช่วยสิบเวรนำผู้ตายไปอาบน้ำและนำมาที่โต๊ะอาหารก่อนจะนำไม้ไผ่ตีผู้ตายจำนวน 2 ครั้งโดยไม่มีการส่งไปพบแพทย์แต่อย่างใด และระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค. ผู้ตายยังถูกสั่งให้ไปนอนตากแดดทั้งที่ร่างกายรับไม่ไหว
ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค.ผู้ตายมีอาการศีรษะบวมและมีไข้สูง จำเลยที่ 13 จึงส่งผู้ตายไปยังโรงพยาบาลวิภาวดี ก่อนที่แพทย์จะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์นิติเวชมีความเห็นว่า ผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่งทั้งบาดแผลฉีกขาดกระจายทั่วร่างกาย สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการไตวาย ภาวะเลือดเป็นกรด และไตทำงานหนัก
การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึง 13 เป็นการจงใจละเมิดให้ผู้ตายได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และเสรีภาพ มีการนำผ้าขาวม้าผูกคอผู้ตายที่อยู่ในสภาพเปลือยกายจนมีอาการขาดอากาศหายใจ เมื่อจำเลยที่ 13 ทราบเรื่องกลับไม่ส่งตัวไปรักษาเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึง 13 เป็นการละเมิดต่อผู้ตายให้ถึงแก่ความตายโดยทารุณและโหดร้าย
คดีนี้อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 45 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึง 13 ต่อมณฑลทหารบกที่ 45 โดยลงโทษจำเลยที่ 3, 4,5 และ 8 ในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยทรมานเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกคนละ 6 ปี และลงโทษจำเลยที่ 6,7, 9 และ 11 คนละ 8 ปี และจำเลยที่ 10 จำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 12 มีความผิดฐานขัดขืนละเลยมิกระทำตามข้อบังคับ และร่วมกันทำร้ายผู้อื่นฯ จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 13 มีความผิดฐานขัดขืนละเลยฯ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ฯ และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นฯ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 13 มีกำหนด 3 ปี
การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 3-13 นอกจากจะเป็นความผิดทางอาญาแล้วยังเป็นการละเมิดผู้ตายรวมถึงมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ 3-13 ต้องร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนแก่โจทก์ โดยทั้งหมดอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และ 2 จึงขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าทนทุกทรมานจากการทำร้ายร่างกาย 80,000 บาท ค่าปลงศพ 700,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ เดือนละ 5,000 บาท คำนวณจนผู้ตายอายุ 60 ปี เป็นเงิน 2,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 1,071,000 บาท รวมที่จำเลยทั้งหมดต้องชดใช้เป็นเงินทั้งสิ้น 4,131,000 บาท
โดยคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีแบบอนาถา ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำ หมายเลข พ 120/2568 นัดไต่สวนขอยกเว้นค่าทำเนียมศาลในวันที่ 28 ม.ค. 68 ในเวลา 09.00 น. และนัดชี้สองสถานในวันที่ 24 มี.ค. 68 09.00 น.
นายนิติธรกล่าวว่า หลังศาลทหารมีคำพิพากษาในปี 2567 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหมด และปรับโดยไม่รอลงอาญา วันนี้จึงมายื่นฟ้องค่าเสียหายทางแพ่ง เนื่องจากศาลทหารไม่สามารถฟ้องแพ่งเข้าไปพร้อมกันได้จึงต้องแยกฟ้องกับศาลแพ่ง โดยเพิ่มการฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกที่เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ถึง 13
นายนิติธรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามารดาของผู้เสียชีวิตต้องอยู่อาศัยเพียงลำพังและขาดรายได้ ก่อนที่จะมายื่นเรื่องให้คณะอนุกรรมการคดีสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งให้กับครอบครัว อีกทั้งมารดาของพลทหารยุทธกินันท์ ยังเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอด แต่คดีไม่คืบหน้าตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 จึงมีข่าวบนหน้าสื่ออีกครั้งหนึ่ง ตนจึงอธิบายว่าเป็นกระบวนการทางศาลทหารที่สืบได้แค่ครั้งละ 1 ปาก ทำให้ล่าช้า จนกองทัพบกได้ออกมาอธิบายภายหลังว่าสาเหตุที่คดีนี้มีความล่าช้าเนื่องจากช่วงหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 จึงเริ่มสืบพยานอีกครั้งในปี 2566
และในปี 2567 ศาลได้พิพากษาจำเลยทั้ง 11 คนกระทำความผิดซึ่งมีทั้งทหารกองประจำการและทหารนอกกองประจำการที่อยู่ภายในเรือนจำ ที่ทั้งหมดได้รุมทำร้ายพลทหาร ยุทธกินันท์ โดยอ้างว่ามีความผิดในข้อหาไม่ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงรุมทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา