เอาไม่อยู่! แม่น้ำยมล้นตลิ่ง ทะลักท่วม 44 หมู่บ้านยังวิกฤติหนัก

เอาไม่อยู่! แม่น้ำยมล้นตลิ่ง ทะลักท่วม 44 หมู่บ้านยังวิกฤติหนัก

51701 ต.ค. 67 12:24   |     Tum1

เอาไม่อยู่! "น้ำยม" ทะลักท่วมเมืองชาละวัน 4 อำเภอ คาดจมน้ำยาวไปอีก 1 เดือน ก่อนจะค่อยๆลดลงสู่ภาวะปกติ

ที่จังหวัดพิจิตร วันนี้ 1 ตุลาคม 2567 สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่ไหลผ่านใน 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร ประกอบไปด้วย อำเภอสามง่าม , โพธิ์ประทับช้าง , บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ยังไม่พ้นจุดวิกฤติ หลังจากมวลน้ำก้อนใหญ่ จากพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก ไหลหลากลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ มีมวลน้ำป่าด้านจังหวัดกำแพงเพชร ไหลสมทบเข้ามาลงแม่น้ำยมฝั่งขวา 

โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่รองรับน้ำดังกล่าว ไม่สามารถพร่องน้ำไปพื้นที่ตอนล่างได้ทัน และไม่สามารถต้านทานมวลน้ำมหาศาลได้ จนเอ่อล้นตลิ่งอย่างรวดเร็ว ไหลท่วมบ้าน วัด โรงเรียน พื้นที่การเกษตร (นาข้าว) และถนนเส้นทางคมนาคมต่างๆ ในพื้นที่ตำบลสามง่าม , ตำบลรังนก และตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม ซึ่งแม่น้ำยมที่เอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนนั้น ระดับมีตั้งแต่ 50 เซนติเมตรไปจนถึงกว่า 1.50 เมตร โดยมีน้ำท่วมแช่ขังชั้นล่างของตัวบ้าน 


 


นอกจากนี้ ถนนทุกสายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านต้องใช้เรือพาหนะสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของมีค่ายานพาหะนะ เครื่องมือการเกษตร เข้ามาไว้ที่บริเวณลานวัดใหม่ราษฎรบำรุง ซึ่งเป็นลานปูนและเป็นเนินสูง และบางครอบครัวขนย้ายไว้บนท้องถนน

ส่วนถนนสายรังนก เชื่อมต่อไปอำเภอสามง่ามฝั่งตะวันตก ถูกแม่น้ำยมเอ่อท่วมพื้นผิวจราจร ยานพาหนะขนาดเล็กสัญจรผ่านด้วยความยากลำบาก 


ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลรังนก กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมวันนี้(1 ต.ค.67) เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก วันนี้น้ำขึ้น 20-30 ซม.และเกิดน้ำท่วมมาหลายวันแล้ว แต่วันนี้ล้นท่วมถนนและท่วมบ้านเยอะกว่าเดิม จะออกไปไหนมาไหนก็ต้องใช้เรือพายเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนและลำบากเป็นอย่างมาก


    

อย่างไรก็ตาม นายสายัณห์ กาวีวงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดพิจิตร ให้ข้อมูลวว่า แม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าว มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 44 หมู่บ้าน , 10 ตำบล 1,015 หลังคาเรือน ซึ่งมวลน้ำดังกล่าวจะเอ่อท่วมพื้นที่ไปประมาณ 1 เดือน และจะค่อยๆลดลง เข้าสู่ภาวะปกติตามลำดับ หากไม่มีมวลน้ำก้อนใหม่ไหลสมทบเข้ามา 

เนื่องจาก พื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมในจังหวัดพิจิตร ตลอดระยะทางยาว 127 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ปลายสุดของแม่น้ำยม ก่อนจะไหลไปประจบกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพราะระดับน้ำในแม่น้ำน่านยังสูงอยู่ การไหลระบายลงสู่พื้นที่ตอนล่างนั้นจะช้ากว่าปกติ  


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง