สุ่มตรวจ “ไชน์มัสแคท” พบสารพิษตกค้าง-สารอันตราย
สุ่มตรวจ “ไชน์มัสแคท” พบสารพิษตกค้าง-สารอันตราย
พบสารพิษอันตรายตกค้างใน "องุ่นไชน์มัสแคท" สุ่มตรวจ 24 ตัวอย่างจากห้าง ร้านค้า ตลาด รถเร่ พบสารตกค้างถึง 50 ชนิด มีสารดูดซึมกว่า 74%!
(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการตรวจสารพิษในองุ่นไชน์มัสแคททั้งหมด 24 ตัวอย่าง
นส.ทัศนีย์ แน่นอุดร นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากองุ่นไชน์มัสแคทมีขายทั่วไปและหาซื้อได้ง่าย มีโปรโมชันมากมาย ทั้งลดทั้งแถม วางขายในตลาดทั่วไปและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ ทางฉลาดซื้อจึงได้ลองสุ่มตัวอย่างตลาดออนไลน์ 2 รถเร่ 5 และโมเดริ์นเทรดที่แพคขายรวมทั้งหมด 24 ตัวอย่าง
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN เผยต่อว่า ผลการตรวจแหล่งที่มาขององุ่นไชน์มัสแคทจากการสั่งออนไลน์ 2 ร้านค้าและตลาด 7 และโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่าง (แบ่งเป็นจากจีน 9 ตัวอย่าง และอีก 15 ตัวอย่าง ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้) พบว่าใน 23 ตัวอย่างจาก 24 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1. องุ่นไชน์มัสแคท 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และเป็นสารที่ถูกแบนในไทยแล้ว ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว
2. องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิดเกินค่าดีฟอลต์ลิมิต ซึ่งสารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัย เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนดและไม่ได้ใช้ในไทย ได้แก่ Procymidone, Imazalil, Thiamethoxam, Tetraconazole, Chlorfenapyr, Flonicamid, Ethirimol, Pyriproxyfen, Lufenuron, Bupirimate, Prochloraz, Hexaconazole, Bromacil และ Isopyrazam
จากสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าส่วนใหญ่เป็นสารกำจัดโรคพืช โดยพบสารกำจัดแมลงไร 40% สารกำจัดโรคพืช 56% และสารพวกนี้เป็นสารดูดซึม 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง ที่อยู่ในเยื่อขององุ่น เป็นเหตุผลว่าทำไมองุ่นถึงสามารถอยู่ได้เป็นเดือน และการล้างด้วยน้ำอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับรับประทาน
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde
และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆ ภายใต้กฎหมายไทย ได้แก่ Triasulfuron, Cyflumetofen,Flonicamid, Chlorantraniliprole, Etoxazole, Spirotetramat, Bifenazate, Dinotefuran, Fluopyram, Boscalid, Fluopicolide, Pyrimethanil, Ametoctradin, Tetraconazole, Ethirimol, Metrafenone, Fludioxonil, Bupirimate, Isopyrazam, Oxathiapiprolin, Biphenyl และ Cyazofamid
Thai-PAN จึงมีข้อแนะนำให้ห้างโมเดิร์นเทรด และผู้จำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคทที่ทาง Thai-PAN ได้นำมาสุ่มตัวอย่างแล้วพบสารพิษตกค้างไม่เกินค่าที่กฎหมายกำหนด ควรแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการนำออกจากชั้นวางจำหน่าย หรือหากขายหมดแล้วควรออกมาแถลงมาตรการให้ชัดเจนกับซัพพลายเออร์ และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคควรต้องยกเลิกการนำเข้า และแก้ไขด้วยการระบุแหล่งที่มาจากประเทศต้นทางให้ชัดเจน เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น
อ้างอิง: เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN)