ตึก สตง.ถล่ม ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่

ตึก สตง.ถล่ม ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่

154129 มี.ค. 68 13:30   |     Tum1

ดร.ธนกฤต ชี้! ตึก สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวระหว่างการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่เอง จะเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง.ไม่ได้

(29 มี.ค.68) ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอีกหลายมหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความรับผิดของผู้รับจ้างก่อสร้าง กรณีตึก สตง.จตุจักร ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว โดยระบุว่า

มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง จากการเสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งตึกได้ถล่มลงมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.68) ตนขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้ทางกฎหมาย และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ในประเด็นเรื่องความรับผิดของผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้าง


โดย ดร.ธนกฤต ได้ขอตั้งสมมติฐานในการเขียนเรื่องนี้ว่า สตง.กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ทำสัญญาจ้างก่อสร้างโดยใช้แบบสัญญาจ้างก่อสร้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และในส่วนของเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างนั้น เป็นไปตามแบบเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมบัญชีกลางที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งเป็นปกติของหน่วยงานของรัฐในการทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ที่จะทำสัญญาตามแบบดังกล่าว โดยการจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้าง เมื่อพิจารณาจากเนื้องานแล้ว น่าจะเป็นการจ่ายค่าจ้างที่เป็นราคาเหมารวมโดยกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวดๆ 



ส่วนประเด็นเรื่องความรับผิดของผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่น่าสนใจ ดังนี้

1. กรณีตึกถล่ม ใครต้องรับผิดชอบจ่ายเงินสร้างตึกใหม่

ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากการที่ตึกถล่มลงมาเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง รวมทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจากการเกิดแผ่นดินไหว แต่หากยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง จะเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง.ไม่ได้ 

เว้นแต่การที่ตึกถล่มพังลงมานั้นเกิดจากความผิดของ สตง.ผู้ว่าจ้าง และตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 13 กำหนดไว้ว่า ผู้รับจ้างจะมาอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ผู้ควบคุมงาน เพื่อให้ผู้รับจ้างพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ (การก่อสร้างตึกอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ครั้งนี้ มีกิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงาน)

2. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนงานของผู้รับจ้างและบุคคลภายนอก

ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคนที่จ้างมาทำงาน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้รับจ้าง ดังนั้น คนงานที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ก็จะได้รับเงินเยียวยาความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ผู้รับจ้างทำไว้ให้ และตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน 



 

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat