แฉ! ที่แท้ฝีมือสื่อขวาจัด ตีข่าว “เคลีฟ” เป็นผู้ชาย
แฉ! ที่แท้ฝีมือสื่อขวาจัด ตีข่าว “เคลีฟ” เป็นผู้ชาย
นักแปล-นักกิจกรรม แฉ! ที่แท้ข่าวผลตรวจนักมวยหญิงชื่อดังเป็นผู้ชาย เป็นการตีข่าวจากสื่อฝ่ายขวาเหยียดเพศของฝรั่งเศส ชี้หลักฐานเชื่อถือไม่ได้-เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(6 พ.ย. 67) จากกรณีกระแสข่าวว่ามีสื่อต่างชาติเปิดเผยผลการตรวจร่างการของ “อิมาน เคลีฟ” นักมวยหญิงชาวแอลจีเรีย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกส์ ปารีสเกมส์ 2024 ซึ่งเคยตกเป็นประเด็นดราม่า หลังมีผู้พยายามชี้ว่าเธออาจเป็นผู้ชายที่สวมรอยเป็นนักมวยหญิงเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ฝั่งของเคลีฟก็ยืนยันมาเสมอว่าตัวเธอนั้นเกิดและเติบโตมาในฐานะของผู้หญิงมาโดยตลอด
โดยชื่อของเธอกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หลังมีผู้อ้างถึง “นิตยสารรีดักซ์” ที่มีการลงบทความที่เขียนโดย “เดฟเฟ อัล อัลเดีย” นักข่าวชาวฝรั่งเศส ระบุว่ามีเอกสารทางการแพทย์ที่เปิดเผยว่า แท้ที่จริงแล้วเคยมีการตรวจพบว่าเคลิฟเป็นผู้ชาย
กระแสข่าวดังกล่าวกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีเคลิฟ รวมถึงการเรียกร้องให้มีการยึดเหรียญโอลิมปิกส์คืนจากเธอเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงที่พยายามต้านกระแสดังกล่าว โดยชี้ว่าตัวนิตยสารรีดักซ์ และเอกสารที่นำมาอ้างถึงนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ไม่สามารถนำมาฟันธงได้ว่าเคลีฟเป็นผู้ชาย รวมถึงการโจมตีเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิของตัวเคลีฟด้วย
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ล่าม, นักแปล และสื่อมวลชนอิสระ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
““สื่อต่างประเทศ” ที่มาของรายงานข่าวนี้คือ #Reduxx ซึ่งเปิดตัวมาได้ 3-4 ปีนี้เอง เป็นเว็บไซต์ transphobic สนับสนุนแนวคิดฝ่ายขวาจัด อ้างว่า pro-woman ความจริงคือเกลียดคนข้ามเพศ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออกมาโจมตีอิมาน เคลิฟ ข้อมูลที่อ้างอิงมาก็เป็นผลการตรวจของ IBA ตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งทำให้นักมวยแอลจีเรียถูกแบนในรายการแข่งขัน
ถ้าเป็นข้อมูลจริง ตอนที่ IBA มาตั้งโต๊ะแถลงที่ปารีส ทำไมไม่เอาออกมาเปิดโปงเสียตั้งแต่ตอนนั้น สังเกตมั้ยว่า Reduxx เล่นข่าวนี้มา 2-3 วันแล้ว แต่ไม่มีสำนักข่าวใหญ่หยิบมาลงข่าวเลย มีแต่สำนักข่าวไทยตีข่าวกันกระจาย ทำยังกับ Reduxx เป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ แถมยังสร้างกระแสจะทวงเหรียญทองคืน
Anna Slatz ผู้ร่วมก่อตั้ง Reduxx เคยเป็นบก.นิตยสารสมัยเป็นนศ. ต่อมาถูกไล่ออก เพราะไปสัมภาษณ์พวกนีโอนาซี เลยไปทำ Rebel News แหล่งข่าวของพวก far-right ต่อมาจึงเปิด Reduxx https://en.wikipedia.org/wiki/Anna_Slatz
อยากรู้จักทีมงานของ Reduxx อ่านที่นี่ ไม่ได้เป็น “สื่อต่างประเทศ” อะไรที่น่าเชื่อถือเลย https://medium.com/@missfredawallace/reduxx-the-trans-obsessed-hate-porn-site-afe5a20d82f5
ต้นตอของข่าว ดูน่าเชื่อถือมั้ย เอาข้อมูลการสแกน MRI ของคนอื่นมาเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือว่าถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณของสื่อมั้ย? https://reduxx.info/algerian-boxer-imane-khelif-has-xy-chromosomes-and-testicles-french-algerian-medical-report-admits/”
ขณะเดียวกันเพจ Intersex Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนของบุคคลอินเตอร์เซ็กส์ หรือผู้ที่มีเพศสรีระทั้งชายและหญิง ก็ได้พูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการกำหนดเพศของตนเอง, ผิดจรรยาบรรณสื่อ, และส่งเสริมการตีตราบุคคลอินเตอร์เซ็กส์ โดยทางเพจระบุว่า
“การพาดหัวข่าวว่าเคลิฟเป็นผู้ชายนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและผิดจรรยาบรรณสื่อ เพราะเหตุผลดังนี้
1. ละเมิดสิทธิในการกำหนดเพศสภาพของตนเอง: ตามหลักการ Yogyakarta ข้อ 3 บุคคลอินเตอร์เซ็กส์มีสิทธิ์ที่จะกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองโดยไม่ถูกบังคับ [1] ดังนั้นการพาดหัวข่าวว่าเคลิฟเป็นผู้ชายทั้งที่เธอระบุตัวเองเป็นผู้หญิง จึงเป็นการไม่เคารพสิทธิของเธอ
2. ผิดจรรยาบรรณสื่อ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กำหนดในข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 11 ว่า "ต้องไม่เสนอข่าวหรือภาพที่อาจทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องเพศ ภาษา ศาสนา และความแตกต่างทางกายและจิตใจ" [2] การพาดหัวข่าวเรียกเคลิฟเป็นผู้ชายทั้งที่เธอเป็นอินเตอร์เซ็กส์และระบุตัวเป็นผู้หญิง จึงถือเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่เหมาะสม
3. ส่งเสริมการตีตรา: การเรียกบุคคลอินเตอร์เซ็กส์ด้วยเพศที่ไม่ตรงกับที่เขาระบุตัวเอง ถือเป็นการตีตราและทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลกลุ่มนี้ [3] ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่เน้นความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลาย
ดังนั้น สื่อควรใช้คำเรียกและสรรพนามตามที่บุคคลอินเตอร์เซ็กส์ระบุตัวเอง เพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน จรรยาบรรณวิชาชีพ และลดการตีตรา นั่นคือเรียกเคลิฟว่าเป็นผู้หญิงตามที่เธอเลือก
อ้างอิง:
[1] http://yogyakartaprinciples.org/principle-3/
[2] https://www.tja.or.th/view/about_ethics_media.php?id=1
[3] https://www.unfe.org/wp-content/uploads/2017/05/UNFE-Intersex.pdf”
และได้อธิบายเพิ่มอีกว่า
“ในแง่ทางการแพทย์แล้ว ต่อมเพศ (gonad) คือโครงสร้างที่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ (gametes) และฮอร์โมนเพศ (sex hormones) ซึ่งเป็นคำที่ครอบคลุมทั้ง อัณฑะ (testis) ในเพศชาย และรังไข่ (ovary) ในเพศหญิง [1]
อัณฑะและรังไข่เป็นต่อมเพศที่มีการพัฒนาและโครงสร้างแยกจากกันอย่างชัดเจน
- อัณฑะ ประกอบด้วยเซลล์ Leydig ที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย testosterone และท่อ seminiferous ที่ผลิตอสุจิ
- รังไข่ ประกอบด้วยเซลล์ theca และ granulosa ที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง estrogen และ progesterone ร่วมกัน และผลิตไข่ด้วย [2]
แต่ในกรณีข้อมูลในข่าวที่กำลังถกเถียงกันนั้น คือ (Differences in Sex Development) เช่น ovo-testicular DSD ต่อมเพศจะมีทั้งเนื้อเยื่ออัณฑะและเนื้อเยื่อรังไข่ปะปนกันอยู่ในต่อมเดียวกัน เรียกว่า ovotestis ซึ่งแตกต่างจากอัณฑะหรือรังไข่ในบุคคลเพศชายหรือบุคคลเพศหญิง [3]
ดังนั้น กรณีถกเถียงกันในข่าว จึงไม่ใช่ว่ามี "องคชาตเล็ก" อย่างที่สื่อบางสำนักพาดหัว เพราะนั่นเป็นการมองผ่านกรอบคิดแบบขั้วตรงข้ามชาย-หญิง (binary) และเป็นการตีตราคนข้ามเพศและอินเตอร์เซ็กส์
สื่อควรใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังโดยเคารพการนิยามตัวตนของแต่ละบุคคล ไม่ตัดสินจากลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียว และยึดหลักจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องและไม่เลือกปฏิบัติ [4] มิฉะนั้นแล้วอาจเข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลในข่าวและบุคคลอินเตอร์เซ็กส์คนอื่นๆได้
อ้างอิง:
[1] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK10943/
[2] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499068/
[3] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6863173/
[4] https://www.tja.or.th/view/about_ethics_media.php?id=1”
ทั้งนี้ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 โดยระบุว่าจะไม่มีการกำหนดเรื่องของฮอร์โมนเพศ ในกลุ่มนักกีฬาข้ามเพศและนักกีฬาอินเตอร์เซ็กส์อีก และจะให้แต่ละประเภทกีฬาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติเอง
ทั้งนี้แม้จะมีการให้อิสระกับแต่ละหน่วยงานกำหนดเกณฑ์ด้วยตัวเอง แต่ยังจะต้องยึดหลักสำคัญ 10 ประการ ได้แก่ 1) การไม่แบ่งแยก 2) การป้องกันอันตราย 3) การไม่เลือกปฏิบัติ 4) ความยุติธรรม 5) การไม่สันนิษฐานถึงความได้เปรียบ 6) อิงตามหลักฐาน 7) ให้ความสำคัญกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย 8) คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 9) สิทธิความเป็นส่วนตัว และ 10) หมั่นทบทวนกฎเกณฑ์เป็นระยะ