“โรคหลอดเลือดสมอง” สังเกตอาการเร็ว ลดความรุนแรงได้

“โรคหลอดเลือดสมอง” สังเกตอาการเร็ว ลดความรุนแรงได้

62728 ต.ค. 67 18:20   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

รู้จัก B.E.F.A.S.T อาการสำคัญบ่งชี้มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง รู้ไวไปหาหมอทันเวลา ช่วยลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

รู้หรือไม่? วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก กำหนดโดยองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO)  โดยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเสียชีวิตจากการป่วย และเป็นสาเหตุอันดับ 3 ที่ทำให้เกิดความพิการอีกด้วย จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากร ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองและมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นทุก ๆ 3 วินาที 


สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองของประเทศไทย ปี 2567 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมจำนวน 358,062 ราย ผู้เสียชีวิต 39,086 ราย ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นวันนี้ทีมข่าวเวิร์คพอจะพาไปรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมองให้มากขึ้น พร้อมความรู้เรื่องปัจจัยต่าง ๆ อาการและวิธีการป้องกัน จะเป็นอย่างไรบ้างไปดูกัน!!


โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ เซลล์สมองจึงขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองตายในที่สุด 


10 ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  1. เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  2. เป็นโรคเบาหวาน
  3. เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
  4. เป็นผู้มีไขมันคอเรสเตอรอลสูง
  5. เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด atrial fibrillation ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ
  6. เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง
  7. เป็นโรคอ้วน
  8. เป็นผู้ที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  9. เป็นผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  10. เป็นผู้ใช้สารเสพติด ยาหรือสารกระตุ้น


อาการ สังเกตได้ตามหลักการ B.E.F.A.S.T  ดังนี้

B (Balance) เดินเซเวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน 

E (Eye) ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน 

F (Face)ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน 

A (Arm) แขน ขา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก 

S (Speech) พูดไม่ชัดเสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออกทันทีทันใด 

T (Time) หากมีอาการโทร 1669 และพบแพทย์ภายใน 4 ชม. 30 น.


วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  • ควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาล และไขมันในเลือด
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม
  • ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติดทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่ม ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ 
  • ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง



โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่อันตราย หากมีอาการควรเข้าพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


อ้างอิง:

https://www.phyathai.com/th/article/understanding-the-10-risk-factors-for-stroke-prevention-and-early-treatment-ptn

https://ddc.moph.go.th/odpc8/news.php?news=47171&deptcode=odpc8&news_views=5



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง