กรมควบคุมโรคเตือน เฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” ระบาด

กรมควบคุมโรคเตือน เฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง” ระบาด

106619 ส.ค. 67 15:13   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน "ฝีดาษลิง" ระบาดหนักทั่วแอฟริกา ด้านกรมควบคุมโรคไทยเตือนผู้ที่เดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา เฝ้าระวังการแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่น

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

จากกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของ โรคเอ็มพอกซ์ (MPox) หรือ "ฝีดาษลิง" เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “Clade 1b” หลังจากโรคระบาดหนักและแพร่กระจายจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จากหลายประเทศทั่วแอฟริกา

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา หลังจาก WHO ออกมาประกาศสภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับการระบาดของฝีดาษลิง ระบุว่าควรมีการเฝ้าระวัง อาจจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม โดยสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยที่พบเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก จึงควรให้ความสำคัญในการป้องกัน และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด


 

นายแพทย์ อภิชาติ วชิรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเตือนผู้ที่เดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา เฝ้าระวังการแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ประชาชนควรเฝ้าระวังอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง โดยเฉพาะผื่นหรือตุ่มหนอง หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

 

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ Mpox เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำดังนี้

  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น
  • การล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • การงดแบ่งปันสิ่งของส่วนตัว


กรมควบคุมโรคระบุว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเน้นที่การระบาดใหม่และสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยได้จัดตั้งสายด่วน 1422 ขึ้นเพื่อสอบถามข้อมูลประชาชน และสนับสนุนให้ผู้ที่มีอาการน่าสงสัยเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลในพื้นที่

 

ไวรัส Mpox แพร่กระจายได้อย่างไร?

  • การสัมผัสโดยตรงกับรอยโรคบนผิวหนัง ของเหลวในร่างกาย หรือละอองทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสแบบเผชิญหน้าเป็นเวลานานกับผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อน เช่น ผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้าที่สัมผัสกับวัสดุติดเชื้อ แม้ว่าจะเป็นวิธีการแพร่กระจายที่หายากก็ตาม

นอกจากนี้ไวรัสยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่แตก ทางเดินหายใจ หรือเยื่อเมือก รวมทั้งตา จมูก และปาก อีกด้วย


 

อาการ Mpox เป็นอย่างไร?

  • มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีผื่นขึ้นตามใบหน้า มือ เท้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • ผื่นอาจกลายเป็นตุ่มหนองและสะเก็ดก่อนที่จะหาย

ในบางกรณีการติดเชื้ออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปการติดเชื้ออาจใช้เวลาแสดงอาการ 2 ถึง 4 สัปดาห์ หรือนานมากกว่า 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายโรคจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกคนได้ 1 ถึง 4 วันก่อนที่จะมีอาการอีกด้วย

 

อ้างอิง:

https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2024-DON525

https://www.who.int/news/item/14-08-2024-who-director-general-declares-mpox-outbreak-a-public-health-emergency-of-international-concern

https://www.facebook.com/yong.poovorawan

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง