สภาฯเดือด! พิเชษฐ์-ชลน่าน ปะทะคารม ลั่นอยากเป็นประธานก็ขึ้นมา

สภาฯเดือด! พิเชษฐ์-ชลน่าน ปะทะคารม ลั่นอยากเป็นประธานก็ขึ้นมา

99924 ต.ค. 67 20:13   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

สภาฯเดือด! พิเชษฐ์-ชลน่าน ปะทะคารม ลั่นอยากเป็นประธานก็ขึ้นมา ก่อนสภาจะมีมติคว่ำรายงานนิรโทษกรรม คะแนน 270 เสียง

(24 ต.ค.67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีนัดลงมติรับรองรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม)


นส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนขอแสดงจุดยืนความชัดเจนของพรรคภูมิใจไทย เพราะรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม ในชั้นกรรมาธิการยังลุกขึ้นตอบโต้กันเองไม่จบตั้งแต่ในห้องประชุม เมื่อเป็นรายงานก็ยังไม่มีความชัดเจน ท่านไม่สรุปว่าจะเอาแบบไหน ใช้อย่างไร พรรคภูมิใจไทยบอกแต่แรกว่า การนิรโทษกรรมดึงมาให้เป็นเรื่องการเมือง เรารับไม่ได้ การรับทราบรายงานในวันนี้ไม่ต้องโหวตเพราะเป็นการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ส่งมาที่สภา พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับเนื้อหาในการทำรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม เพราะไม่มีการโหวต การรับทราบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย


นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ประเด็นที่สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง 10 ประเด็น ตนชื่นชม นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเชื่อว่าอีกหลายคนในห้องนี้ ผ่านการนิรโทษกรรมมาแล้ว หากสังคมจะเอากันให้ตาย หลายท่านคงมีโอกาสมาทำหน้าที่


การทำหน้าที่ของกรรมาธิการไม่จบในห้องประชุมนั้น เพราะกรรมาธิการมาจากหลายพรรคการเมืองและหลายความเห็นก็แตกต่างกัน รายงานอาจจะมีบางจุดที่สงวนความเห็น เป็นเรื่องปกติและธรรมดาในสภาแห่งนี้ กฎหมายหลายฉบับที่หารือกัน ก็มีการสงวนแปรญัตติ เป็นธรรมดาที่กรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาศึกษาในเรื่องยาก อาจจะหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่าควรจะไปในทิศทางใด นี่คือหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องตัดสินใจ สิ่งสำคัญคือฝ่ายบริหารสามารถตัดสินใจทำได้เลยไม่ต้องรอรายงาน การจะถอนฟืนออกจากกองไฟ สามารถดำเนินการได้เลยแม้ไม่มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จึงต้องถามว่าตกลงแล้วการเอาคนไปขัง ไม่ว่าเขาจะทำความผิดอะไรก็แล้วแต่ ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ประเทศนี้ได้ประโยชน์อะไร ทำไมไม่ใช้โอกาสในการคลี่คลายความขัดแย้ง เราไม่ควรมาแข่งกันเพื่อแสดงความจงรักภักดี วันนี้เรามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข พวกเราคือพสกนิกร ต้องไม่สร้างความรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้จงรักภักดีมากกว่าใคร เพราะนั่นคือความขัดแย้ง จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด


ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะประธาน กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวในที่ประชุมว่า พวกเราตั้งสติกันได้ว่าเรื่องนี้เป็นรายงานไม่ใช่การเสนอกฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะทำอะไร หรือมาตราอะไร แต่นัยคือให้มีการยกโทษการกระทำทางการเมือง ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองปี 48 ซึ่งไม่มีใครคัดค้านและไม่เห็นด้วย เป็นเอกฉันท์ ข้อสองไม่ได้ฟังธงเรื่องนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ เป็นเพียงความเห็นกว้างๆ ที่เป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีความเห็นขัดแย้งอยู่ หากประเด็นใดที่ไม่มีข้อยุติ ทางออกของประเทศที่ดีที่สุดการรับรู้รับทราบข้อเท็จจริงทุกฝ่ายว่ามีความคิดเห็นอย่างไร การตรากฎหมายอะไรก็ตามท้ายที่สุดถ้าไม่รับทราบข้อเท็จจริง ผลคือเราจะตรากฎหมายโดยไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง และจะเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต


ส่วนตัวเชื่อว่ารายงานนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษานำไปประกอบการพิจารณาว่า การตรากฎหมายนิรโทษกรรมควรคำนึงถึงอะไร และควรจะมีสาระสำคัญอย่างไร 


ทั้งนี้ ข้อสังเกตหลายข้อไม่ได้บังคับองค์กรใดว่าจะต้องทำตาม เป็นเรื่องของกรรมาธิการ ส่วนตัวคิดว่าเราควรจะยุติคือรับรับทราบรายงาน รับทราบข้อสังเกต และนำรายงานนี้ไปประกอบการพิจารณาของสภา


ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นมาชี้แจงถึงร่างรายงานฉบับนี้ว่า ข้อสังเกตให้ลงมติเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ที่จะส่งให้หน่วยงาน เช่น ศาล หรือรัฐบาลได้ไปปฏิบัติ แต่ในส่วนของรายงานสมาชิกไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ส่วนข้อสังเกตไม่ได้ระบุถึงแนวทาง แต่ไปอยู่ในรายงาน ถ้าไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยกับรายงานจะลงมติอย่างไร


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงแนวทางที่สมาชิกได้หารือว่า ตัวรายงานประธานได้วินิจฉัยแล้วว่ากรรมธิการทำเสนอต่อสภาเป็นรายงานเพื่อทราบ จะนำถ้อยคำใดมาลงมติ ประเด็นนี้จึงจบไป ประเด็นที่สองข้อบังคับ 105 ถ้ากรรมาธิการมีข้อสังเกตที่จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำไปรับทราบหรือปฏิบัติ และนำเสนอต่อสภา ถ้ามีข้อสังเกตต้องลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะความหมายของคำว่าเห็นด้วยคือสภาเห็นชอบกับการส่งข้อสังเกตไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบหรือนำสู่ปฏิบัติ ถ้าเห็นว่าข้อสังเกตนี้ส่งไปไม่เกิดประโยชน์ใดๆ มีแต่ปัญหา ไม่มีความชัดเจน สภามีมติไม่เห็นด้วยก็จะตกไป ผลสรุปมีแค่นี้ แต่ตัวรายงานยังอยู่ นี่คือวิธีการที่ปฏิบัติมาตลอด 


“การที่เราลงมติว่าจะส่งหรือไม่ส่ง มีผลผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแล้ว ถ้าปฏิบัติไม่ได้ต้องแจ้งภายใน 60 วัน ก็จะเป็นข้อผูกมัด ตนไม่เห็นด้วยกับการส่งไปให้รัฐบาล เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ”


ทำให้ นายพิเชษฐ์ โต้กลับว่า แล้วแต่ท่าน จากนั้นสมาชิกในที่ประชุมต่างลุกขึ้นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาดังกล่าว


จากนั้น นพ.ชลน่าน ได้ลุกขึ้นประท้วงประธาน ว่า หน้าที่ของท่านประธานคือต้องทำหน้าที่ตามข้อบังคับ 105 มีข้อสังเกตต้องให้สภาลงมติ แต่ท่านให้เสนอญัตติจะเสนอทำไม ท่านก็ถามว่าใครเห็นชอบ ไม่เห็นชอบแค่นี้เอง ถ้าทำไม่ได้เปลี่ยนรองประธานสภาคนที่สองมาแทน


นายพิเชษฐ์ โต้กลับว่า ไม่ต้องชี้หน้า อยากเป็นก็ขึ้นมา


จากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นชอบรายงานของกรรมาธิการนิรโทษกรรม ด้วยคะแนน 270 ต่อ 152 เสียง

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง