อสส.สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ
อสส.สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ
อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ควบคุม-พลขับรถขนย้ายผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ปี 47 "ร่วมกันฆ่าผู้อื่น" จี้ ตร.ตามตัวมาแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.นี้ ก่อนคดีจะหมดอายุความ
วันที่ 18 ก.ย.67 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้า "คดีตากใบ ปี 47" ระบุว่า หลังอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ของศาลจังหวัดสงขลา จาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบตร.รักษาราชการแทน ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 25 เม.ย.67 ซึ่งทั้งสองคดี สืบเนื่องจากวันที่ 19 ต.ค.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมตัวนายกามา (สงวนนามสกุล) กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีถูกกล่าวหาว่า นำอาวุธลูกซองของราชการที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้าน ไปมอบให้กับคนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐาน "แจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์"
ต่อมาในวันที่ 25 ต.ค.47 เวลาประมาณ 10.00 น. มีกลุ่มมวลชนประมาณ 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที โดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเวลา 13.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้ง 6 รายมาร่วมเจรจา แต่ไม่เป็นผล เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายและเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
พล.ต.เฉลิมชัย (สงวนนามสกุล) (ยศในขณะนั้น) ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรมได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม กระทั่งในเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ไดสลายการชุมนุม และจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40-50 คน ออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น.นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น.
เมื่อนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมเสียชีวิต 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2-6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้ง 2 คดีมีรายละเอียด ดังนี้
1.) สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมี พ.ต.อ.พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ข้อหา "ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ประกอบด้วย
- พลเอก เฉลิมชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 1
- ร้อยตรี ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 2
- นายวิษณุ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 3
- เรือโท วิสนุกรณ์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 4
- นายปิติ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 5
- พันจ่าตรี รัชเดช หรือ พิทักษ์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 6
- พันโท ประเสริฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 7
- ร้อยโท ฤทธิรงค์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 8
2.) สำนวนชันสูตรพลิกศพ เกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวน ได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย
และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าทั้ง 78 คน เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 จากการขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
หลังจากศาลมีคำสั่ง ได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการ ได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาล พร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมด พร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้เสียชีวิตถูกเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 143 วรรคท้าย
3.) หลังจากอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จาก พล.ต.ท.อิทธิพล แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 ก.ค.67 ต่อมา พนักงานสอบสวน ได้ส่งผลสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุด ในวันที่ 20 ส.ค.67
โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน เป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม
โดยผู้ต้องหาที่ 1 กับผู้ตองหาที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2-6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถ ก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุม การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า จะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐาน "ร่วมกันฆ่าผู้อื่น" คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 รายดังกล่าว
เนื่องจาก พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาที่ 1-8 มารับข้อกล่าวหาตามข้อกล่าวหา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดได้แจ้งคำสั่งไปยัง ผบ.ตร.เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย นำตัวส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป