เตรียมตัวรับมือ “โรคฉี่หนู” ที่มาพร้อมกับฤดูฝน

เตรียมตัวรับมือ “โรคฉี่หนู” ที่มาพร้อมกับฤดูฝน

44708 ส.ค. 67 14:22   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ในฤดูฝนมีโรคระบาดมากมายที่เกิดจากน้ำขัง น้ำสกปรก ก่อให้เกิดเชื้อโรคมากมายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ “โรคฉี่หนู” ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการลุยน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากติดเชื้อแล้วปล่อยไว้นาน อันตรายถึงชีวิตเลยที่เดียว ไปดูกันว่าโรคนี้คืออะไร มีอาการแบบไหน และควรการป้องกันอย่างไร

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) คือการติดเชื้อแบคทีเรีย เล็บโตสไปร่า (Leptospira) จากปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุนัข ม้า วัว หมู ฯลฯ ซึ่งเชื้อนี้จะปนเปื้อนมากับน้ำท่วมขัง สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านบาดแผล หรือรอยขีดข่วน รวมไปถึงเข้ามาทางเยื่อบุตา จมูก ปากได้เช่นกัน โรคนี้จะพบบ่อยที่สุดในช่วงหน้าฝนหรือตามพื้นที่น้ำท่วมขัง


อาการ

อาการขึ้นอยู่กับแต่ละคนเนื่องจากระยะฟักตัวของเชื้อไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ 2 วัน ถึงหลายสัปดาห์ หรือบางกรณีอาจจะนานถึง 1 เดือน ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังรับเชื้อ โดยอาการที่พบจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

ระยะแรก

  • ไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น
  • ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ตาแดง ระคายเคืองตา ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อรุนแรง
  • ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต

 

ระยะที่สอง

  • ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน (อาการรุนแรงน้อยกว่าระยะแรก)
  • อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ
  • ตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปอดอักเสบ
  • เลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ

 

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำสกปรก หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูต หลังจากนั้นให้รีบชำระล้างร่างกายทันที หากมีแผลไม่ควรให้สัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ส่วนอาหารที่ต้องรับประทานสดๆ เช่น ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง



อ้างอิง:

https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/193

https://www.bangkokhospital.com/content/leptospirosis-be-careful-in-rainy-season-and-flood

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24021-leptospirosis

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง