เผยผู้ป่วยเสียชีวิตจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปีละ 2 หมื่นราย

เผยผู้ป่วยเสียชีวิตจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปีละ 2 หมื่นราย

79316 ก.ค. 68 19:46   |     Tum1

พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เฉลี่ยปีละ 20,000 ราย รัฐแบกรับค่าใช้จ่ายดูแลกว่า 13,500 ล้านบาทต่อปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ก.ค.68 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว


ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งมีบริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV ATK จำนวน 2,000 ราย สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป และบริการตรวจอัลตร้าซาวด์ตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 600 ราย สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เคยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยรับประทานยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ และผู้ที่เคยบริโภคปลาน้ำจืดแบบสุกๆ ดิบๆ



รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย โดยภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังเริ่มป่วย จะมีผู้เสียชีวิตกว่า 70% และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นอีกภายในระยะเวลา 2 ปี ข้อมูลชี้ว่า กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นประชากรในวัยทำงาน อายุเฉลี่ยที่พบมากที่สุดคือ 55 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัวและเศรษฐกิจ


รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า โรคนี้มีความน่ากลัวตรงที่อาการไม่ได้แสดงในทันที แต่พยาธิใบไม้ตับจะเข้าไปฝังตัวในท่อน้ำดี ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน 10–15 ปี ก่อนจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดี หากตรวจพบและรักษาในช่วงที่ยังเป็นพยาธิ ก็สามารถรับประทานยากำจัดพยาธิเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งได้ แต่หากปล่อยไว้จนกลายเป็นมะเร็ง การรักษาจะมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะหากต้องผ่าตัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 300,000–400,000 บาทต่อเคส เฉพาะเคสที่สามารถผ่าตัดได้ ส่งผลให้รัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี สูงถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี โดยในปีล่าสุดมีการประเมินว่ารัฐต้องใช้งบประมาณกว่า 13,500 ล้านบาท ในด้านสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้



อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปัจจุบันดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต ย้อนกลับไปเมื่อ 30–40 ปีก่อน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับมากกว่า 50% เนื่องจาก การตรวจผ่านอุจจาระมีความไวไม่เพียงพอ ขณะที่ในปัจจุบันพบผู้ติดเชื้ออยู่เพียง 3–5% เท่านั้น และความหนาแน่นของพยาธิในร่างกายมนุษย์ก็ลดลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถวางใจได้ เนื่องจาก ยังมีผู้ที่ตรวจไม่พบแต่ติดเชื้ออยู่ ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของสถิติเฉลี่ย 20,000 รายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี



การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ และไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี” ให้เป็นจริงในอนาคต ผ่านการรณรงค์ สร้างการรับรู้ และให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat