จับกุมข้าราชการ "รีดส่วยรถบรรทุก" เสียหายรวม 200 ล้านบาท

จับกุมข้าราชการ "รีดส่วยรถบรรทุก" เสียหายรวม 200 ล้านบาท

106803 ก.ย. 67 12:07   |     Tum1

จับกุมข้าราชการ "รีดส่วยรถบรรทุก" มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท พบ 4 ปีมีผู้เสียหายมากกว่า 30 ราย

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 3 กันยานยน 2567 สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้การอำนวยการของ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. และนายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการ ป.ป.ท. มอบหมายให้ พ.ต.ท. สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 และ พ.ต.ท. สราวุธ คำเหลือง ผอ.กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต ร่วมกับนายไพโรจน์ นิยมเดชา ผอ.กลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 สำนักงาน ป.ป.ช., พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. 

นำกำลังเข้าจับกุม ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ โดยไม่ถูกจับกุม พร้อมทั้งตรวจค้นด่านชั่งน้ำหนัก ที่ผู้ต้องหาปฏิบัติหน้าที่กว่า 10 จุด


สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการทุจริตเรียกรับส่วยรถบรรทุก ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้โดยไม่ถูกจับกุม พบว่า กระทำการโดยชุดเฉพาะกิจ นําโดยนาย น.(นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน 

นาย น.ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก และนาย อ. (นามสมมุติ) ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อแลกกับการไม่จับกุมผู้ประกอบการรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 



โดยผู้ถูกจับกุม มีพฤติการณ์ในการรับเงินจากผู้ประกอบการโดยตรง และโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีของนาย น. และยังมีนาย ธ.(นามสมมุติ) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อ เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการต่างๆ และนำเงินไปส่งมอบให้นาย น.โดยใช้บัญชีม้ารับโอนเงินและทำธุรกรรมต่างๆ


สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ร่วมกับ ป.ป.ช. และ บก.ปปป. สนธิกำลังเข้าจับกุมตัว นาย น. , นาย อ. และนาย ธ. รวม 3 ราย พร้อมตรวจค้นตามจุดต่างๆ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมไปถึงตรวจค้นด่านชั่งน้ำหนักที่ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย รวม 11 จุด และดำเนินการส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ให้ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 



เบื้องต้นทราบว่า มีชุดเฉพาะกิจดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด โดยตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียหายรวมมากกว่า 30 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 200 ล้านบาท และเงินส่วยหมุนเวียนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท เบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งหมดยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และความผิดดังกล่าว เกิดจากการกระทำส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง