"อนุทิน" ยืนยันเร่งแก้ กม.ให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 99 ปี

"อนุทิน" ยืนยันเร่งแก้ กม.ให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 99 ปี

22521 มิ.ย. 67 20:27   |     AdminNews

"อนุทิน" เผย นายกฯ สั่งเร่งแก้ กม.ให้ต่างชาติเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี รวมถึงกรณีซื้อคอนโดเพิ่มเป็น 75% ไม่เอื้อกลุ่มทุนเชื่อมโยงรัฐบาล - ด้าน 'ภูมิธรรม' ยืนยัน "ยังไม่มีการตัดสินใจ"

21 มิ.ย.67 ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการแก้กฎหมายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดของต่างด้าวจากเดิม 49 % เป็น 75% และการเช่าที่ดินขยายจาก 50 ปีเป็น 99 ปี นายอนุทิน กล่าวว่า มี 2 เรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมาโดยเรื่องแรกเป็นการถือครองที่ดินของทรัพย์อิงสิทธิ์และเรื่องที่สองคืออัตราส่วนการถือครองคอนโดโดยต่างด้าวหรือเรียกว่าพ.ร.บ.อาคารชุดฉบับแก้ไข ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อสั่งการและสั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งวันนี้เรื่องน่าจะถึงสำนักงานกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยกร่างของกรมที่ดินซึ่งเป็นเรื่องที่สืบต่อเนื่องกันมาไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร

ส่วนสาระสำคัญของการถือทรัพย์อิงสิทธิ์ เพิ่มจาก 50 ปีเป็น 99 ปี จริงๆแล้วเหมือนเดิมเนื่องจากพ.ร.บ.เดิมเช่าได้ 50 ปีและขยายอีกได้ 50 ปี เมื่อเราเป็น 50 ปีแล้วก็ขยายเป็น 99 ปีเลยเพราะเมื่อ 50 ปีแล้วต่ออีก 50 ปีก็เป็น 100 ปีพอดี เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นความยั่งยืน เพื่อจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน


ขณะที่การถือครองอาคารชุดเพิ่มจาก 49% เป็น 75% แต่การถือครองที่เกินกว่า 49% ขึ้นไปไม่สามารถโหวตตั้งกฎระเบียบได้ แต่การโหวตสิทธิ์อะไรยังเป็นของคนไทยอยู่ ชาวต่างชาติจะถือครองได้แต่ไม่สามารถโหวตออกเสียงได้ แต่สิ่งที่จะได้คือขายอาคารชุดได้มากขึ้นจะได้ไม่มีแต่ซัพพลายมีดีมานด์ด้วย


เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าจะถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อเอื้อให้กับบริษัทขายอสังหาริมทรัพย์บางรายที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวว่า ก็พูดกันไป ถ้าพูดอย่างนี้ก็โยงได้ทุกเรื่องแต่เรื่องนี้เป็นการโยงให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องสิทธิและการถือครองประโยชน์ของคนไทยไม่มีตรงไหนเสียไปมีแต่เรียกเงินเข้ามา โดยหากไปศึกษากฎหมายนี้แบบละเอียดเรามีแต่ได้ไม่มีอะไรที่เสีย พร้อมระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ถูกยกมาตั้งนานแล้ว “เพราะของผมสั่งวันนี้เสร็จเมื่อวาน”


เมื่อถามย้ำว่ากระทรวงมหาดไทยทำเสร็จตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสั่งการใช่หรือไม่ นายอนุทิน พยักหน้ารับ เมื่อถามต่อว่า อสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุน นายอนุทิน ระบุว่า อย่าไปมองแบบนั้น ขอให้มองว่าเป็นคนไทย ทีเวลาสมัยก่อนมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็แก้ไขให้เขา ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีในเรื่องการปรับอัตราส่วนและเรื่องภาษีต่างๆเราก็ช่วยกันตามสถานะ ตอนนี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทเดียวมีเป็นร้อย ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งนั้น ยิ่งเข้ามายิ่งมีข่าวดีมีโครงการเพิ่มมากขึ้น ขยายความเจริญออกไปที่ดินก็จะมีราคาสูงขึ้นคนไทยก็ได้ประโยชน์ เจ้าของที่ดินก็จะได้ประโยชน์ มูลค่าตามราคาตลาดจะสูงขึ้น ซึ่งคือการเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศไทยคิดไปก็มีแต่บวก หากถามว่ามีลบบ้างไหมหาดีๆมันก็เจอ แต่จุดที่มันเป็นลบเมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นบวก ต่างกันเยอะเราก็ไประวังจุดที่เป็นลบ


ส่วนจะนำเข้าที่ประชุมครม.พิจารณาได้เมื่อใด นายอนุทิน กล่าวว่า ตนต้องลงนามเห็นชอบหลักการก่อน ต้องผ่านความเห็นส่วนราชการอื่นๆ รวมไปถึงความเห็นของประชาชน ซึ่งจะมีขั้นตอนไม่ใช่ว่าอยากจะทำเองแล้วทำได้ พูดได้อย่างเดียวว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใครอย่างแน่นอน อันนี้ยืนยันได้เลยเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนให้กับประเทศไทย

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของชาวต่างชาติดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67 สืบเนื่องจากมติครม.วันที่ 9 เม.ย. ได้พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มายื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ประมาณ 9-10 ข้อ โดยมี 2 เรื่องที่ค้างอยู่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ จาก 50:50 เป็น 99 ปี และเรื่องของการถือครองคอนโดชาวต่างชาติจาก 49 % เป็น 75 % ย้ำว่ามาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ซึ่งเป็นข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการเร่งรัดศึกษา หาข้อสรุปความเป็นไปได้ ยังไม่มีการดำเนินการจัดการ เป็นเพียงการนำมติครม. มาดำเนินการและรายงานต่อ ครม. 


ส่วนการแบ่งสัดส่วนยังไม่มีเกณฑ์ มีเพียงข้อเสนอมาจากการรับฟัง และข้อเสนอมา ซึ่งข้อที่คิดว่าทำได้ ได้สั่งการแล้ว เหลือเพียง 2 ข้อนี้ ที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลา เพียงแต่ขอให้สรุปมาได้โดยเร็ว ยังไม่มีการตัดสินใจ

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง