"จิรายุ" ยืนยันคนกรุงขอให้มั่นใจปีนี้ไม่ท่วมแบบ 54 แน่ หลัง ศปช. ถกข้อมูลและแผนรับมือสถานการณ์น้ำ ยืนยันน้ำปีนี้น้อยกว่าเกือบ 10 เท่า
"จิรายุ" ยืนยันคนกรุงขอให้มั่นใจปีนี้ไม่ท่วมแบบ 54 แน่ หลัง ศปช. ถกข้อมูลและแผนรับมือสถานการณ์น้ำ ยืนยันน้ำปีนี้น้อยกว่าเกือบ 10 เท่า
โฆษก ศปช. เทียบข้อมูลชัดๆ น้ำปีนี้น้อยกว่าปี 54 เกือบ 10 เท่า ย้ำการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาทไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ขอคนกรุงเทพ และปริมณฑลมั่นใจไม่เกิดแบบปี 54 แน่นอน
(29 ก.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ของ ศปช.ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยที่ประชุมได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปี2567 นี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. จำนวนพายุ โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูกคือ “ซูริก” ซึ่งแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทย แต่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่
2. ปริมาณฝนสะสม เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% และเป็นปริมาณฝนมากที่สุดในรอบ 61 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ในปี 2567 แม้จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2%
3. ปริมาณเขื่อนในการรองรับน้ำในปี 2554 เนื่องจากปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติทำให้เขื่อนหลักของประเทศไทยรองรับน้ำ 1,366 ล้านลบ.ม. แต่ในปี 2567 การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำให้เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ถึง 7,162 ล้านลบ.ม.
4. ปริมาณน้ำท่า หรือปริมาณการระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 28 ก.ย.67 อยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึง 2,730 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุ เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงาน ศปช. ได้เน้นย้ำถึงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ไหลเข้ามา และปริมาณน้ำทะเลหนุนที่จะกระทบต่อระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วันอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่ กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที
แต่ทั้งนี้หากมีน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำและจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทาง กทม.สำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 32 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว” นายจิรายุ กล่าว
สถานการณ์น้ำเหนือที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ดีขึ้นตามลำดับ
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบว่าปัจจุบันระดับน้ำทั้ง 2 จังหวัดเริ่มลดลง โดยที่จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เวียงป่าเป้า บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าสำรวจความเสียหายดำเนินการฟื้นฟู และจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป
ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ โดยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย ประกอบด้วย ถนนเจริญราษฎร์ จากสะพานนวรัฐ ถึงสะพานนครพิงค์ ถนนช้างคลาน จากวัดอุปคุต ถึงแยกแสงตะวัน ถนนศรีดอนไชย จากแยกแสงตะวัน ถึงแยกโรงแรมอนันตรา ถนนเจริญประเทศ จากแยกโรงแรมอนันตรา ถึง สะพานนวรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่