4 ใบสั่งจาก กกต. ลงโทษการเลือกตั้งไม่สุจริต

4 ใบสั่งจาก กกต. ลงโทษการเลือกตั้งไม่สุจริต

39028 ส.ค. 67 16:39   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ! รู้จัก 4 ใบสั่งการเลือกตั้งไทย กกต.แจกใบไหน มีผลอย่างไรบ้าง

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

จากเหตุคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบเหลืองให้กับ "นายชาญ พวงเพ็ชร" มีมติเอกฉันท์สั่งให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ใหม่ กรณีกล่าวหาว่านายชาญ ผู้ได้รับเลือกตั้ง จัดเลี้ยงและมหรสพเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตัวเองนั้น เป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2567 มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม วันนี้ข่าวเวิร์คพอยท์23 จะพาทุกคนไปรู้กันว่าใบเหลืองคืออะไร และในการเลือกตั้งมีใบอะไรบ้างที่จะต้องรู้

 

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรอิสระที่มีหน้าที่หลักในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การสรรหาและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้ให้อำนาจแก่ กกต. ในการลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง โดย กกต. มีอำนาจในการดำเนินการลงโทษได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.ใบเหลือง 2.ใบส้ม 3. ใบแดง และ 4.ใบดำ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1.ใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่เฉพาะเขต) เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

1.1 ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง หาก กกต. พบเหตุต้องสงสัยหรือการทุจริตทั้งก่อนและระหว่างการเลือกตั้ง กกต. มีอำนาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งแล้วเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้

1.2 หลังประกาศผลเลือกตั้ง หาก กกต. มีหลักฐานอันควร เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีการทุจริต ไม่ชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น ๆ

 

2.ใบส้ม (ถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี) เกิดขึ้นกรณี กกต. มีหลักฐานว่าทุจริตการเลือกตั้ง กกต. สามารถระงับสิทธิ์รับเลือกตั้งของผู้สมัครที่ทำผิดไม่เกิน 1 ปี และสั่งให้เลือกตั้งใหม่เฉพาะกรณีผู้กระทำผิดชนะการเลือกตั้ง

 

3.ใบแดง (ถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี) เกิดขึ้นกรณี กกต. มีหลักฐาน ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครมีส่วนร่วมกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาได้ หากศาลตัดสินให้ผู้สมัครนั้นผิด จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี หรือผู้สมัครทำกระทำผิดถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหลักฐานที่ถูกเสนอต่อศาล

 

4.ใบดำ (ถอนสิทธิเลือกตั้งไม่มีกำหนด) เกิดขึ้นกรณี มีโทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่มีระยะเวลารับโทษที่ชัดเจน หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ซึ่งการถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทางการเมือง

 

อ้างอิง :

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%A1_%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87

https://radiotrat.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2177/iid/179848

 

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง