“เพื่อไทย” ชงกฎหมายคุมกลาโหม ให้ครม.ตั้งนายพล-ห้ามยึดอำนาจ

“เพื่อไทย” ชงกฎหมายคุมกลาโหม ให้ครม.ตั้งนายพล-ห้ามยึดอำนาจ

211606 ธ.ค. 67 17:20   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

“เพื่อไทย” ชงแก้กฎหมายจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ให้อำนาจ ครม.ตั้งนายพล ตัดเครือข่ายอำนาจพวกพ้อง เพิ่มคุณสมบัตินายพลต้องไม้ข้องเกี่ยวอาชญากรรม-ไม่มีธุรกิจประโยชน์ทับซ้อน พร้อมคุมกำเนิดรัฐประหาร ห้ามใช้กำลังทหารยึดอำนาจ

(6 ธ.ค. 67) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ในส่วนของการรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ระบุว่า นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. ถึงวันที่ 1 ม.ค. 2568


สำหรับหลักการและเหตุผลของการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น เพราะมองว่า การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการ ที่มี รมว.กลาโหม และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการ แต่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ


ในส่วนของข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ระบุไว้ด้วยว่า “คนที่ไม่ใช่พวกพ้องเสียโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหารและทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส ดังนั้นจึงควรให้อำนาจ ครม. เป็นผู้พิจารณา อีกทั้งควรปรับองค์ประกอบของกรรมการให้เหมาะสม รวมถึงองค์ประกอบของสภากลาโหม ให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหม ให้นายกฯ เป็นประธานสภากลาโหม แทน รมว.กลาโหม และตัดกองทัพอออกจากสภากลาโหมบางส่วน ให้เหลือเพียง 1-2 คนก็เพียงพอ”


นอกจากนี้ยังมีเรื่องหลักเกณฑ์การขึ้นตำแหน่งนายพลที่น่าสนใจ โดยต้องเป็นผู้ที่


1.ไม่เคยมีพฤติกรรม เป็นผู้อิทธิพลหรือพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม


2.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงกลาโหม


3.ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หมิ่นประมาท หรือ ลหุโทษ


ขณะเดียวกันในมาตรา 35 ซึ่งเดิมกำหนดหน้าที่ทหารเพื่อปราบปรามจลาจล แต่ในร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้เพิ่มข้อห้ามใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหาร ในกรณีของการยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่างๆ ห้ามใช้เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา และ กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ ทั้งนี้ได้กำหนดด้วยว่า ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร


สำหรับนายทหารที่ฝ่าฝืนหรือเตรียมการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 35 จะมีบทลงโทษด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวตามคำสั่งของนายกฯ เพื่อให้เกิดการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ในสาระสำคัญของมาตรา 35 ที่เสนอแก้ไขนั้น ย้ำความสำคัญคือ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง