บึงกาฬเฝ้าระวัง"แม่น้ำโขง"ขึ้นสูงขึ้นในรอบปี

บึงกาฬเฝ้าระวัง"แม่น้ำโขง"ขึ้นสูงขึ้นในรอบปี

47724 ส.ค. 67 10:55   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

บึงกาฬเฝ้าระวัง"แม่น้ำโขง"ขึ้นสูงขึ้นในรอบปี สั่งเตรียมความพร้อมในการรับมือหากน้ำโขงล้นเข้าพื้นที่ชุมชน

(24ส.ค.67) เวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำใน"แม่น้ำโขง"ที่ไหลผ่าน จ.บึงกาฬ เช้าวันนี้วัดได้ 11.70 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.30 เมตร(ตลิ่ง 14.00 เมตร) เพิ่มขึ้นมาจากวานนี้ 50 เซนติเมตร ประกอบกับในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีมวลน้ำเหนือจาก จ.เลย , จ.หนองคาย และจากภูเขาควาย ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไหลลงมาตามลำห้วย และแม่น้ำสายหลักของฝั่ง สปป.ลาว ลงมาบรรจบในพื้นที่บึงกาฬ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอีกนับว่าสูงสุดในรอบปี 


นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สทนช. เดินทางไปตรวจราชการและติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน , กรมทรัพยากรน้ำ , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำโขงในเขตพื้นที่ จ.บึงกาฬ ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานบึงกาฬ และลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมที่บริเวณบ้านท่าเชียงเครือ ต.ป่งไฮ อ.เซกา 


นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้มีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงบริเวณประเทศเมียนมา ไทย และลาว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สทนช. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มีประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย และยังมีประเทศเมียนมาและจีนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงด้วย โดย สทนช. เป็นผู้ประสานงานหลักของฝ่ายไทย ในวันนี้จึงได้มาตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและความพร้อมสถานีวัดระดับน้ำริมแม่น้ำโขงจุดต่าง ๆ ซึ่งจะต้องรายงานข้อมูลระดับน้ำให้ MRC ได้รับทราบทุกวันเวลา 07.00 น. เพื่อนำเข้าแบบจำลองประเมินสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ในภาพรวมรายงานให้ประเทศสมาชิกได้ทราบ 


นายไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย สทนช.จะเป็นผู้รับข้อมูลและกระจายส่งต่อให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงได้รับทราบสถานการณ์น้ำเพื่อดำเนินการต่อไป จากการลงพื้นที่วันนี้พบว่า สถานีวัดระดับน้ำหลายจุดใน จ.หนองคาย ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากการคาดการณ์ ของ MRC ระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง จึงขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ล่วงหน้า เช่น เร่งปิดทางระบายน้ำในจุดที่มีพื้นที่ต่ำเพื่อป้องกันน้ำโขงล้นเข้าพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือเตือนภัยระดับน้ำเพิ่มในทุกจุด


นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า และได้ขอให้วางแผนช่วยเหลือชุมชนและประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำหากเกิดอุทกภัย นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานคือให้เพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยและสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ โดยต้องมีข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำเพื่อประชาชนสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ทัน  


นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.บึงกาฬ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณลำน้ำสาขาห้วยฮี้ ต.โป่งไฮ อ.เซกา พบว่าเป็นน้ำท่วมขังส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ซึ่งไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสงครามได้ นอกจากนี้ในพื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬ ซึ่งเคยมีน้ำท่วมบริเวณศาลากลางจังหวัดเป็นประจำทุกปี ในปีนี้กรมชลประทานได้ก่อสร้าง ปตร.ห้วยกำแพงแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


ด้าน นายวิชาญ แท่นหิน ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร กล่าวว่า ขอนำเรียนพี่น้องประชาชนว่าศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร เป็นส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงจ.บึงกาฬด้วย เพื่อเป็นการเตรียมการในเบื้องต้น เป็นไปตามนโยบายของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 


นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร นำเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รถอพยพยกสูง รถครัวสนาม เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ ฯลฯ มาประจำการไว้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหา หรือเป็นการสนับสนุนภารกิจให้กับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ 


"ในเบื้องต้นมีความพร้อม และทาง ปภ.จังหวัด ได้มีการประสานบูรณาการหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬได้มีความพร้อม และหากไม่เพียงพอเราพร้อมที่จะยกสรรพกำลังเหล่านี้มาให้การสนับสนุนช่วยเหลือจังหวัดบึงกาฬ" นายวิชาญ ระบุ


นายวิชาญ กล่าวด้วยว่า สำหรับ จ.บึงกาฬ มีปริมาณน้ำฝนค่าเฉลี่ย 30 ปี 3,500 มิลลิเมตร แต่ขณะเดียวกันนับถึงเวลานี้ ตกมาแล้ว 2,800 มิลลิเมตร เพราะฉะนั้น อยากจะเรียนพี่น้องประชาชนให้ได้คลายความกังวลในส่วนนี้ ถ้าหากเป็นฟุตบอลก็เป็นช่วง 30 นาทีสุดท้ายแล้วของช่วงฤดูฝนในตอนนี้ 


นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็ดีใจกับจังหวัดบึงกาฬที่มีน้ำต้นทุนในภาพรวมของโครงการชลประทาน 101 % เพราะฉะนั้น ช่วงหน้าแล้งคิดว่า พี่น้องประชาชนจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ แต่ขณะเดียวกันในช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝน เราก็ไม่คลายใจ เรามีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง