5 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคไต
5 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคไต

ไม่ต้องรอให้ไตพัง! ป้องกันโรคไตก่อนจะสาย เพียงเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้
ในปัจจุบัน คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง โดยเฉพาะโรคไตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสชาติเค็ม และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตคือการใช้ยาเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบชนิดต่าง ๆ
โรคไตหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องสามารถส่งผลต่อการทำงานของไตในระยะยาวได้ แต่เราสามารถป้องกันและดูแลไตให้แข็งแรงได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ ดังนี้
5 วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับร่างกาย โดยทั่วไปควรดื่มน้ำประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านั้นถ้าวันไหนอากาศร้อนหรือเหงื่อออกมาก การดื่มน้ำจะช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น หากสังเกตว่าปัสสาวะมีสีเข้มหรือไม่ค่อยปัสสาวะแปลว่าอาจดื่มน้ำไม่พอ ควรรีบดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป การดื่มน้ำให้เพียงพอยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้นและช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
การเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพสามารถช่วยดูแลไตได้อย่างมาก ควรกินผักและผลไม้ เพื่อเสริมสร้างวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลดการทานเนื้อแดงและอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเกลือโซเดียมเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน รวมถึงน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เพราะทั้งสองอย่างนี้หากทานมากเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ไตทำงานหนักและอาจเกิดโรคไตในอนาคตได้
3. ตรวจวัดความดันโลหิตให้ปกติ
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ ค่าความดันโลหิตที่ควรจะเป็นปกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำจะช่วยให้เรารู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบว่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลอย่างถูกต้อง เพราะความดันโลหิตสูงจะทำให้ไตทำงานหนักและอาจเกิดความเสียหายได้
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดบ่อยเกินไป
ยาแก้ปวดประเภท NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน หรือพวกไดโคลฟีแนค อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ถ้าทานบ่อยเกินไปหรือทานในปริมาณมาก ๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังไตลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสื่อมของไตในระยะยาว และบางครั้งการใช้ยาชุดที่ผสมยาแก้ปวดหลายชนิดอาจทำให้เราได้รับยาเกินขนาดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการทานยาเกินความจำเป็นและหากมีอาการปวดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยา
5. ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดีทั้งในเรื่องของหัวใจ ปอด และไต การออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อไต ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยสามารถเลือกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อไตได้