คนตาบอดพ้อ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ลงทะเบียนยาก

คนตาบอดพ้อ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ลงทะเบียนยาก

59202 ส.ค. 67 17:03   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

คนตาบอดพ้อ แอปทางรัฐลงทะเบียน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ยาก สแกนหน้าไม่ผ่าน ไม่มีอักษรเบรลล์ ต้องมีผู้ช่วยพาลงทะเบียนทุกขั้นตอน วอนรัฐทบทวนขั้นตอนในกลุ่มคนพิการและแก้เงื่อนไขการใช้เงินเพราะหลายคนไม่สะดวกเดินทางไปใช้จ่ายในภูมิลำเนาตามที่รัฐกำหนด

(2 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้คนผู้ที่ต้องการรับสิทธิ์  ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ไปจนถึงวันที่ 15 ก.ย.


โดยบรรยากาศของการลงทะเบียนวันที่ 2 วันนี้พบว่า  กลุ่มผู้พิการทางสายตา ซึ่งได้รับสิทธิ์ดังกล่าวต่างเริ่มพากันทยอยลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ โดยเฉพาะที่ มูลนิธิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนการศึกษา คนตาบอด ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ฯต้องคอยแนะนำและพาผู้พิการทางสายตาดำเนินการในขั้นตอนต่างๆตามที่รัฐบาลกำหนด โดยพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นหลายอย่าง



น.ส.อัญธิฌา พนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อการเรียนการสอน  กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้พิการทางสายตา ซึ่งยอมรับว่าการลงทะเบียนรับเงินดิจิลวอลเล็ต มีอุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะการสแกน ใบหน้าซึ่งผู้พิการทางสายตาจะมองไม่เห็นว่ากรอบในโทรศัพท์ที่ต้องสแกนตรงกับใบหน้าของตัวเองหรือไม่ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ คอยบอก หันซ้ายหันขวาพยักหน้า จึงจะสามารถลงทะเบียนได้ เพราะในระบบเสียงบอกแค่ว่าให้ขยับหน้า ตรงกับกรอบซึ่งไม่ได้บอกว่ากรอบอยู่ตรงไหนซ้ายหรือขวาซึ่งก็เป็นอุปสรรค จึงควรเพิ่มคำแนะนำแบบเสียงหรือแบบอักษรเบลหรือตามพิการของแต่ละกลุ่มเข้าไปด้วย


“อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่ผู้พิการทางสายตากังวล และสร้างความยุ่งยากนั่นคือต้องกลับไป ใช้เงินตามภูมิลำเนาของตัวเอง โดยเฉพาะส่วนตัวมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็ต้องกลับไปใช้จ่ายที่นั่น ซึ่งก็จะต้องใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวให้หมด เพื่อไม่ต้องเดินทางไปมาหลายครั้ง เพราะมีปัญหาเรื่องการเดินทางอีกทั้งขณะนี้ก็ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากรัฐบาล จ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชี ก็จะง่ายและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการมากขึ้น ดังนั้นหากมีเฟสสอง หรือมีการปรับแก้เงื่อนไขหรือขั้นตอน ก็อยากให้ให้คำนึงถึงผู้พิการในการใช้การลงทะเบียนด้วย น่าจะเปลี่ยนเป็นการสแกนนิ้วหรือรหัสตัวเลขแทนการสแกนใบหน้าหรือขั้นตอนต่างๆที่รัฐกำหนดตามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้”



ขณะที่ น.ส.ธนวันต์ พนักงานบริหารสื่อการเรียนการสอน โรงเรียนการศึกษา คนตาบอด  ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตา ส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ลงทะเบียนผ่านระบบเสียงแล้วทำตามขั้นตอน  ซึ่งตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดก็จะมีทั้งเจ้าหน้าที่และนักเรียน ของทางโรงเรียน ได้รับสิทธิ์เกือบทุกคน ซึ่งทุกคนล้วนดีใจและได้วางแผนการใช้เงิน ว่าจะนำไปใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ ส่วนเงินเดือนของผู้พิการ ที่ได้รับอยู่แล้วก็จะนำไปซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่นไม้เท้า หรืออุปกรณ์เฉพาะของคนตาบอด ซึ่งไม่มีขายในร้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป 


“อุปกรณ์คนตาบอดมีราคาสูงไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จึงอยากให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนั้นสามารถที่จะรับเงินดิจิทัลวอลเลตนี้ด้วย ซึ่งถ้ามีคนตาบอดจะดีใจมาก อย่างไม้เท้าคนตาบอดมีหลายราคาเริ่ม 500-3,000 บาท  ขณะที่กลุ่มนักเรียนก็ตื่นเต้นที่จะได้เงินจำนวนนี้ทุกคนเริ่มวางแผนว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายแบบไหน ถ้าเป็นไปได้อยากให้โอนเงินสดเข้าบัญชีไปเลยและจะไปนำเงินไปบริหารจัดการเองเพื่อความสะดวกของคนแต่ละคนซึ่งพิการ เดินทางไม่สะดวกและหลายคนอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางกลับไปใช้จ่ายในภูมิลำเนาของตนเองจึงอยากให้มีการททวยนการใช้จ่ายในพื้นที่เพิ่มเติมขึ้นด้วย”



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง