ฟ้องศาลได้ไหม? เพื่อนยืมเงินแล้วไม่คืน

ฟ้องศาลได้ไหม? เพื่อนยืมเงินแล้วไม่คืน

39720 มี.ค. 68 16:43   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

หลายคนอาจเคยประสบปัญหากับเพื่อนยืมเงินแล้วไม่คืน แต่ไม่รู้ว่าแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายได้อย่างไหม? วันนี้เรามีคำตอบให้คุณ!

(เรียบเรียงโดย กัญญาณัฐ อาศัย)

หลายๆ คนคงเคยเจอกับสถานการณ์ที่เพื่อนยืมเงินไปแล้วหายเงียบไม่ยอมคืน ซึ่งอาจสงสัยว่ากรณีนี้จะสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่สามารถทำได้ เพราะการยืมเงินไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้

 

กรณีที่สามารถฟ้องศาลได้


มีสัญญาเงินกู้

หากมีการทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างชัดเจน การฟ้องศาลก็จะมีน้ำหนักมาก เพราะสัญญากู้ยืมจะเป็นหลักฐานที่ศาลยอมรับ 100% การทำสัญญาควรระบุข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เช่น วันที่ทำสัญญา, ชื่อ-ที่อยู่ของผู้กู้และผู้ให้กู้, จำนวนเงินที่กู้ยืม, กำหนดเวลาคืนเงิน และลายเซ็นของผู้กู้

 

ไม่มีสัญญาเงินกู้

หากไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังสามารถใช้หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ข้อความแชทระบุการยืมเงิน หรือสลิปการโอนเงินมาช่วยในการฟ้องร้องได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และหลักฐานเหล่านี้ต้องไม่ถูกดัดแปลงเพื่อความน่าเชื่อถือในชั้นศาล

 

กรณียืมเงินแล้วไม่คืน ถือเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 ซึ่งระบุว่าเจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องศาลเพื่อให้ลูกหนี้คืนเงินตามกฎหมายได้ แต่ถ้าหากลูกหนี้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ เช่น ซุกซ่อนหรือโอนย้ายทรัพย์สิน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดี อาจเข้าข่ายความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

โดยก่อนที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไม่ ก็ควรป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนี้

• ทำสัญญากู้ยืมเงิน

• ต้องมีลายเซ็นของทั้งผู้ให้กู้และผู้ยืม เพื่อยืนยันตัวตนของผู้กู้

• ควรเก็บหลักฐานการทำธุรกรรม, หลักฐานทางอิเล็กทรอนิก

• พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้

 

สุดท้ายนี้ควรระมัดระวัง และทำสัญญา เก็บหลักฐานสำคัญต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในเรื่องของการยืมเงินหรือการให้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมกับคนใกล้ชิดหรือคนที่เรารู้จัก การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรช่วยให้ความตกลงนั้นมีความชัดเจน และสามารถใช้เป็นหลักฐานได้หากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง