นายกฯ มอบนโยบาย 77 จว. ตั้งเป้าให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ให้ใช้ฐานข้อมูลทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด
นายกฯ มอบนโยบาย 77 จว. ตั้งเป้าให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ให้ใช้ฐานข้อมูลทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด

นายกฯ มอบนโยบาย 77 จว. ตั้งเป้าให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ให้ใช้ฐานข้อมูลทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด ให้ใช้โมเดลความสำเร็จจาก อ.ท่าวังผา จ.น่าน และ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตาม เร่งรัด การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 2/2567 ที่ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.โดยมี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และนายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รวมถึง คณะกรรมการ ศปก.ครส. ซึ่ง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ส.ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปก.ครส.
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข , พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ , พล.ต.ท. สันติ ชัยนิรามัย จเรตำรวจรักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายธนาธิป นวรัตนวรกุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมย้ำว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยสั่งการให้เร่งขับเคลื่อนและต่อยอดความสำเร็จ จากปฏิบัติการ 90 วันใน 25 จังหวัดเป้าหมาย และยกระดับให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เน้นการทำงานเชิงบูรณาการทุกมิติ ตั้งแต่การสกัดกั้นยาเสพติดระหว่างประเทศ เพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้า รวมถึงปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้า
และยังต้องให้ความสำคัญ กับการค้นหาผู้เสพในชุมชน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ส่งเสริมการฝึกอาชีพและการศึกษา พร้อมจัดระบบติดตามดูแล เพื่อป้องกันการกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติด มุ่ง “คืนคนคุณภาพสู่สังคม” และสร้างสังคมไทยปลอดยาเสพติด โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลัก (CEO) ด้านยาเสพติดของจังหวัด กำชับให้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่
- เชียงใหม่
- สกลนคร
- ประจวบคีรีขันธ์
- นราธิวาส
- อุทัยธานี
- ปทุมธานี
- นครพนม
- ระยอง
- นครศรีธรรมราช
- ตรัง
ให้ใช้โมเดลความสำเร็จจาก อ.ท่าวังผา จ.น่าน และ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด โดยมี พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแล พร้อมทั้งสั่งการให้เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มการแจ้งเบาะแสยาเสพติด ที่สามารถรักษาความลับผู้แจ้ง เพื่อให้ประชาชนแจ้งข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
สำหรับการติดตามผลการดำเนินงาน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงการรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวเสริมว่า ระบบสารสนเทศยาเสพติดจังหวัด หรือ NISPA PLUS มี Dashboard เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงข้อมูลและผลการดำเนินงาน โดยแสดงผลตัวชี้วัดที่สำคัญ (KPI) ทั้งภาพรวมของประเทศ และรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลกลาง ให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลร่วมกัน และยังมีข้อมูลสถิติที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ยาเสพติด , ผลการจับกุม , การบำบัดรักษา และงบประมาณ
ทั้งนี้ การแสดงผลแบบ Real-time ของระบบ NISPA PLUS จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
