โควิด-19 ดุ! เดือนนี้แค่ 5 วัน กู้ภัยโคราชเป็บแล้ว 8 ศพ
โควิด-19 ดุ! เดือนนี้แค่ 5 วัน กู้ภัยโคราชเป็บแล้ว 8 ศพ

โควิด-19 กลับมาดุ! ที่โคราชผ่านมาแค่ 5 วัน กู้ภัยเก็บร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย เด็กสุดแค่ 4-5 ขวบ ยังมียอดป่วย-ตายตามมาอีก วอนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตระหนักและป้องกันตัวเอง
(5 มิ.ย. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ Chaiyasit Phupharat ได้โพสต์ภาพลงในโซเชียล เป็นภาพของเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย “ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ COVID-19 มูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา หรือ ฮุก 31” กำลังช่วยกันนำร่างผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 จากโรงพยาบาลนำไปฌาปนกิจที่วัด โดยระบุข้อความในโพสต์ว่า “ระวังกันนะครับ ติดกันเยอะ คนที่ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว ไม่เกี่ยงอายุนะครับ วันนี้ มีตั้งแต่ไม่กี่ขวบ จนถึงสูงอายุ ทีมงานฮุก 31 บ้านหลังสุดท้าย ทุกๆ เขตรับผิดชอบ เริ่มมีภารกิจถี่ขึ้นครับ ต้นเดือน มิ.ย 68 มาถึงวันนี้ ก็ 8 รายละครับ ระมัดระวังนะครับ กินช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆไปที่ชุมชนใส่หน้ากากครับ”
วันนี้ ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยังนายชัยสิทธิ์ ภูผารัตน์ หัวหน้าอาสาสมัครมูลนิธิพุทธธรรมฮุก 31 นครราชสีมา ผู้โพสต์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ “บ้านหลังสุดท้าย” หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า “ทางมูลนิธิพุทธธรรมฮุก 31 นครราชสีมา ได้ดำเนินการโครงการ “บ้านหลังสุดท้าย” ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ COVID-19 ใส่ชุดพีพีอีนำรถตู้ไปรับศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปประกอบพิธีฌาปนกิจศพอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าปัจจุบันโรคติดเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วเหมือนไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ตระหนักถึงการป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองเท่าที่ควร รวมทั้ง การให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว หรือสีเหลือง ก็ไม่เข้มข้นเท่าช่วงที่มีการระบาดหนักๆ ส่วนใหญ่จะซื้อยามาทานเอง หรือไปพบแพทย์วินิจฉัยตามอาการ แล้วให้ยามาทานกลับไปพักดูแลตนเองต่อที่บ้าน จึงทำให้เสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ง่าย
ซึ่งสถานการณ์ของโรคที่ระบาดรุนแรงในปี 2563-2564 และคลี่คลายลง จนมาเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ในปี 2568 กลับเป็นที่น่าจับตาอีกครั้ง เพราะพบผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาและกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2568 พบการเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์โอมิครอน LP.8.1 ที่เป็นสายพันธุ์ระบาดหลัก เริ่มแพร่ลดลง และถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ NB.1.8.1 ซึ่งขณะนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นและอยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เพราะสายพันธุ์นี้แม่จะทำให้ไม่มีอาการรุนแรงแต่เชื้อแพร่กระจายรวดเร็ว จึงทำให้มีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้น และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีมากขึ้นไปด้วย
โดย จ.นครราชสีมา ในปี 2568 มีผู้ป่วยโควิด19 เสียชีวิตค่อนข้างมาก เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มี 5-6 ราย และในเดือนมิถุนายนนี้ พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือน สถิติผู้เสียชีวิตเริ่มพีคมากขึ้น เสียชีวิตไปถึง 8 รายแล้วและวันนี้มีอีก 2 ราย ที่ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ COVID-19 ในโครงการบ้านหลังสุดท้าย จะต้องนำไปฌาปนกิจยังวัดที่รับเผาเหยื่อเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งมีเพียงไม่กี่วัดในจังหวัดที่รับเผา
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ มากสุดประมาณ 80 ปี และอายุต่ำสุด ก็ประมาณ 4-5 ขวบ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงกันทั้งนั้น และผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจะมีทั้งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และบางส่วนเสียชีวิตที่บ้านหลังจากไปพบแพทย์แล้วกลับมาพักรักษาตัวต่อที่บ้าน ซึ่งโรคโควิด19 ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังอยู่ในฐานะ “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” อยู่ จึงอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยรักษาได้ให้ความสำคัญมากขึ้น
ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนก็ต้องตระหนักและรู้จักป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง 608 เพราะช่วงฤดูฝนสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อย ภูมิต้านทานโรคในร่างกายจะลดต่ำทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากในที่แออัด และเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบกำหนด รวมถึงควรสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หรืออาการทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชีวิตใหม่หมูดวงแข็ง! หนีตายจากโรงเชือด "พระครูอ๊อด" ไถ่ชีวิต 8,990 บาท ส่งตัวไปอยู่บ้านใหม่ใต้ใบบุญวัดป่าดาราภิรมย์
