ดอยสุเทพหายไปในฝุ่น เชียงใหม่เปิดมาตรการลดการเผา

ดอยสุเทพหายไปในฝุ่น เชียงใหม่เปิดมาตรการลดการเผา

28909 ม.ค. 68 13:00   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ดอยสุเทพวันนี้หายไปในฝุ่น ส่งสัญญาณอันตราย ค่า PM 2.5 เพิ่มสูง - ฝ่ายปกครองเชียงใหม่เพิ่มมาตรการ ไม่จ่ายน้ำให้พื้นที่ที่มีการเผาวัสดุเหลือใช้การเกษตร

(9 ม.ค. 68) ท้องฟ้าเหนือเมืองเชียงใหม่เช้าวันนี้ เริ่มขมุกขมัวจากหมอกควันที่เข้าปกคลุม จากตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อมองไปยังดอยสุเทพด้านทิศตะวันตกของเมืองเริ่มมองเห็นหมอกควันสีขาวเข้ามาบดบังดอยสุเทพ ที่ถือเป็นดัชชีทางภูมิศาสตร์ที่วัดค่าหมอกควันและฝุ่นละอองของเชียงใหม่


ด้านศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานคุณภาพอากาศรายชั่วโมงในเวลา 8 นาฬิกา ว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานในระดับสีแดงถึง 9 อำเภอ วัดได้ระหว่าง 76 - 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงที่สุดคือที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


นอกจากนี้ยังมีอำเภอไชยปราการ สารภี เชียงดาว สันกำแพง สันทราย แม่แตง แม่อาย รวมถึงหลายจุดในตัวเมืองเชียงใหม่ก็อยู่ในโซนสีแดง คือ ตำบลหายยา ตำบลสุเทพ โดยเฉพาะในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตัวเมืองเชียงใหม่ พีเอ็ม 2.5 อยู่ในระดับสีแดงถึงสีส้มทุกจุด



ปริมาณฝุ่นพิษที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ เป็นสัญญาณเข้าสู่ฤดูหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้แล้ว น.ส.สุรัสวดี ภูมิพานิช นักภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานจะใช้ข้อมูลจุดความร้อนจากไฟป่าจากระบบเวียร์จากดาวเทียม Suomi ที่รายงานจุดความร้อนจากไฟป่าได้วันละ 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันจิสด้าได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมโนอาร์ 20 และโนอาร์ 21 ที่มีระบบบันทึกข้อมูลมาเพิ่มศักยภาพความถี่ในการติดตามข้อมูล เมื่อรวมกับข้อมูลจากระบบ Modis จากดาวเทียม Terra และ Aqua จะทำให้สามารถติดตามข้อมูลจุดความร้อนได้เพิ่มเป็น 10 ครั้งต่อวัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการวางแผนข้อมูลในการบริหารจัดการกับไฟป่าได้ดีขึ้น


ในส่วนการให้บริการข้อมูลจิสด้ามีการพัฒนาโมบายแอพลิเคชั่น “ไฟป่า” จะเป็นแอพลิเคชั่นที่รับการแจ้งเตือนจุดความร้อนได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อพบข้อมูลจุดความร้อนเพื่อส่งต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดับไฟได้เร็วขึ้น



ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางนายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่จำนวน 14,022,546 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า จำนวน 9,614,645 ไร่ คิดเป็น 68.57 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การเกษตร จำนวน 3,449,428 ไร่ คิดเป็น 24.60 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ จำนวน 958,473 ไร่ คิดเป็น 6.83 เปอร์เซ็นต์ ทีการประเมินวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในภาพรวมทั้งจังหวัด 1,111,774.17 ตัน


นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของชลประทาน ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรก็จะไม่มีการส่งน้ำให้ ตั้งแต่ก่อนช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งพื้นที่ของชลประทานทั้งจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 980,000 ไร่ คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตร และ 2 ล้านกว่าไร่ อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน



ขณะเดียวกันทางด้านนายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งให้กับที่ประชุมเพื่อดำเนินการเร่งด่วน ในการสำรวจพื้นที่การเกษตรให้แน่ชัด รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าด้วย ว่ามีทั้งหมดกี่ไร เป็นพืชชนิดไหนบ้าง รวมทั้งพื้นที่ฝังกลบมีจำนวนกี่ไร่ จุดที่จะทำการฝังกลบต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นของชลประทาน เพื่อให้ทราบตัวเลขที่แน่ชัดในแต่ละพื้นที่ ที่จะนำมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


และในส่วนที่ทางการเกษตรที่ไม่สามารถฝังกลบได้ ก็ให้แต่ละอำเภอรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อส่งให้กับสำนักงานเกษตรฯ ที่จะดำเนินการตามนโยบายในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จะลดการเผา ซึ่งให้ทุกอำเภอเร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ ที่ 10 ม.ค. 68 นี้ เพื่อดำเนินการวางแผนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง