จับแล้วมาเฟียเงินกู้ เจ้าหนี้ครูศูนย์เด็ก ที่รมควันจบชีวิตหนีหนี้

จับแล้วมาเฟียเงินกู้ เจ้าหนี้ครูศูนย์เด็ก ที่รมควันจบชีวิตหนีหนี้

79809 ส.ค. 67 13:54   |     Tum1

จับแล้วแก๊งทวงหนี้นอกระบบ แกะรอยจากมือถือครูศูนย์เด็กเล็ก ที่รมควันจบชีวิตหนีหนี้ หลังโดนกดดันทวงหนี้จนเครียด ตำรวจเร่งขยายผลปราบปรามเครือข่าย วอนชาวบ้านให้ความร่วมมือ-แจ้งเบาะแส

ที่ จ.นครพนม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า เกี่ยวกับคดี น.ส.ธัญญาลักษณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี ตำแหน่งครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดเทศบาลตำบลหนองญาติ อ.เมืองนครพนม ตัดสินใจลมควันจบชีวิตตัวเองเพื่อหนีหนี้ หลังถูกแก๊งมาเฟียเงินกู้นอกระบบ กดดันทวงหนี้ จนเกิดความเครียด โดยวันเกิดเหตุ สามีของผู้เสียชีวิตได้มีการโทรศัพท์ติดต่อ ไปยังแก๊งเงินกู้เจ้าหนี้ให้มาดูศพ พร้อมต่อว่าเป็นต้นเหตุทำให้ภรรยาคิดสั้น หลังจากยืมเงิน รวมประมาณ 40,000 บาท และมีการจ่ายต้นและดอกรายวัน นับ 1,000 บาท



ล่าสุด พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้สั่งการให้ชุดสืบสวน สภ.เมืองนครพนม ติดตามแกะรอยรวบรวมหลักฐานข้อมูล จากโทรศัพท์มือถือ จับกุมดำเนินคดี นายสัมฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี เครือข่ายแก๊งมาเฟียนายทุนเงินกู้นอกระบบ ชาว จ.นครราชสีมา โดยได้มาเช่าบ้าน ทำงานปล่อยเงินกู้เก็บดอกเบี้ย ให้กับลูกค้าในพื้นที่ อ.เมืองนครพนม แต่ไม่มีการซัดทอด ถึงนายทุนใหญ่ พร้อมแจ้งข้อหา "ปล่อยกู้และทวงหนี้ผิดกฎหมาย , เก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด"



ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า แก๊งมาเฟียเงินกู้ส่วนใหญ่ จะมาจากต่างถิ่น พร้อมจัดทีมออกตระเวนแจกนามบัตร เพื่อหาลูกค้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านและแม่ค้าพ่อค้าทั่วไป โดยจะเริ่มให้เครดิต ครั้งละ 3,000-5,000 บาท เก็บดอกเบี้ยร้อยละประมาณ 10-20 บาทต่อวัน และจะมีการหักดอกเบี้ยล่วงหน้า

จากนั้น จะให้แบ่งจ่ายทยอยเก็บเป็นรายวัน จนครบต้นครบดอก ในระยะเวลาประมาณ 7-15 วัน หากไม่สามารถชำระได้ จะเพิ่มดอกเบี้ยเท่าตัว โดยจะมีกลุ่มตำรวจนอกรีต อยู่เบื้องหลังคอยดูแล ทำให้ยากในการดำเนินคดี เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะสมยอม นอกจากมีการทำร้ายร่างกายในการทวงหนี้ ลูกหนี้จึงจะออกมาแจ้งความดำเนินคดี



ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายปกครองและตำรวจ ยอมรับว่า ยากในการเอาผิด และแก้ไขปัญหาถาวร เนื่องจาก ลูกหนี้ส่วนใหญ่ จะมีปัญหาด้านการเงิน และยินยอม ทั้งที่รู้ว่าดอกเบี้ยโหดผิดกฎหมาย เป็นการหวังนำเงินไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สุดท้ายไม่มีจ่าย บางรายเมื่อเกิดปัญหาไม่มีเงินจ่าย ก็ออกมาร้องเรียนขอความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะได้เร่งตรวจ ปราบปรามอย่างจริงจัง แต่จะต้องได้ความร่วมมือจากลูกหนี้ที่เกิดปัญหา จึงจะสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายได้ 


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง