เชียงใหม่เข้มปล่อยโคมยี่เป็ง เปิดพื้นที่ 6 อำเภอ ห้ามปล่อยโดดเด็ดขาด
เชียงใหม่เข้มปล่อยโคมยี่เป็ง เปิดพื้นที่ 6 อำเภอ ห้ามปล่อยโดดเด็ดขาด
เชียงใหม่เข้มปล่อยโคมยี่เป็ง เปิดพื้นที่ 6 อำเภอ ห้ามปล่อยโดดเด็ดขาด ขณะที่โคมที่ขออณุญาตแล้วปีนี้มี 6.2 หมื่นดวง
(12พ.ย.67) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้นายศิวะ ธมิกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอ และหน่วยงานในพื้นที่ ลงพื้นที่ตรวจแนะนำกับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายโคมลอย โคมไฟ ออกตรวจผู้ผลิตโคมลอยตามมาตรฐาน มผช. 808/2552 จำนวน 3 จุดคือ
- แหล่งทำเชื้อเพลิงสำหรับโคมลอย ต.หนองตอง อ.หางดง
- ร้านราชาโคมลอย ต.หนองผึ้ง อ.สารภี
- ย่านชุมชนวัดเมืองสาตรหลวง ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ประจำปี 2567
นายศิวะ ธมิกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีมาตรการ เพื่อความปลอดภัยในการปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ประจำปี 2567 ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แนะนำกับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายโคมลอย โคมไฟ ในการปฏิบัติตามมาตรการของกฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่เขตปลอดภัยทางเดินอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้กำหนดพื้นที่ปล่อยโคมลอย อย่างชัดเจน
สำหรับจุดห้ามจุดและปล่อยโคมโดยเด็ดขาด ในพื้นที่ 6 อำเภอ 39 ตำบล ประกอบด้วย
- อำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอหางดง ทุกตำบล
- อำเภอสารภี ในพื้นที่ตำบลขัวมุง ตำบลดอนแก้ว ตำบลสันทราย ตำบลท่าวังตาล และตำบลหนองผึ้ง
- อำเภอสันทราย พื้นที่ตำบลหนองหาร
- อำเภอแม่ริม พื้นที่ตำบลดอนแก้ว ตำบลเหมืองแก้ว ตำบลริมใต้ ตำบลแม่สา ตำบลริมเหนือ
- อำเภอสันป่าตอง พื้นที่ตำบลทุ่งต้อม เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ในรัศมีการบิน
สำหรับพื้นที่นอกเขตปลอดภัยทางเดินอากาศ สามารถทำการปล่อยโคมลอยและโคมไฟได้ แต่ต้องขออนุญาตนายอำเภอท้องที่ก่อนทำการปล่อย 30 วัน ซึ่งในปีนี้มีโคมลอยที่ขออนุญาตและได้รับการอนุญาตแล้วทั้งหมด 62,000 ดวง ซึ่งตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้สามารถปล่อยโคมลอย และโคมไฟ ได้ 2 วันเท่านั้น ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15 และ 16 พฤศจิกายน 2567 โดยอนุญาตให้ปล่อยได้เฉพาะเวลา 19.00 - 01.00 น.
อีกทั้งยังกำหนดไว้ว่าโคมลอยที่สามารถปล่อยได้ จะต้องมีขนาดและรูปแบบของโคมลอยตามมาตรฐาน มผช.808/2552 ตัวโคมทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร และสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร และต้องปล่อยในพื้นที่ที่มีการขออนุญาตแล้วเท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนการจุดและปล่อยโคมลอยโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากปล่อยโคมทำให้เกิดเพลิงไหม้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง