โรคมากับหน้าฝน! กลุ่มเกษตรกรเสี่ยงป่วย 'โรคไข้ฉี่หนู' อันดับ 1 รักษาผิดติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต

โรคมากับหน้าฝน! กลุ่มเกษตรกรเสี่ยงป่วย 'โรคไข้ฉี่หนู' อันดับ 1 รักษาผิดติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต

58606 ส.ค. 67 11:33   |     AdminNews

กรมควบคุมโรคย้ำประชาชน ฝนตกหนักหลายพื้นที่ หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำขังเป็นเวลานาน เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูสูง ครึ่งปีพบป่วยเกือบ 1,500 คน ตาย 17 คน แนวโน้มพบป่วยเพิ่มขึ้นช่วงฤดูฝน

วันนี้ (6 สิงหาคม 2567) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง จึงเสี่ยงมีโรคและภัยสุขภาพที่มากับช่วงฤดูฝน ซึ่งนอกจากโรคติดต่อทางระบบหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 แล้ว ยังมีโรคติดต่อจากการสัมผัส เช่น โรคมือ เท้า ปาก , โรคเมลิออยโดสิสหรือโรคไข้ดิน และโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนูด้วย เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง เชื้อโรคจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากไม่ป้องกันดูแลสุขภาพของตนเอง ก็จะเสี่ยงเจ็บป่วยติดเชื้อโรคได้โดยง่าย 

โดยเฉพาะ 'โรคฉี่หนู' เป็นโรคที่มักพบอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในปีนี้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่และมีน้ำท่วมขัง อาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 27 มิถุนายน 2567 หรือประมาณครึ่งปี พบผู้ป่วยแล้ว 1,458 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี คิดเป็น 20.44% รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี คิดเป็น 19.55% และ กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็น 18.45% ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร มากถึง 33.5 % ,ไม่ทราบอาชีพ 26.7 % และอาชีพรับจ้าง 17.1 % 

หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เพราะโรคไข้ฉี่หนูเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา ที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือแอ่งน้ำขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้สามารถจะไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก และจากการที่ประชาชนลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมรองเท้าบูทหรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า หรือสวมอุปกรณ์ป้องกัน 

ซึ่งหลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมา อาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ซึ่งอาการระยะแรกของโรคไข้ฉี่หนูจะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น จึงพบว่าผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ล่าช้า เนื่องจากซื้อยารับประทานเอง จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ 

จึงขอแนะนำประชาชนให้ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนู โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำที่ท่วมขังนานๆ หากจำเป็นต้องสัมผัสน้ำที่ท่วมขัง ดินที่ชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำท่วม ให้สวมรองเท้าบูทและสวมถุงมือยาง  


นอกจากนี้ หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขัง ให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที หากหลังจากลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์ แล้วมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือภายใน 1-2 วันหลังเริ่มป่วย พร้อมกับแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้รวดเร็วจะช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สามารถสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง