ย้อนรอยคดีตากใบ ก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค. 67

ย้อนรอยคดีตากใบ ก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค. 67

123018 ต.ค. 67 22:14   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนรอยเหตุการณ์สะเทือนใจ จากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส สู่การล้อมจับกุม ก่อนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ในปี 2547 พร้อมนับถอยหลังก่อน “คดีตากใบ” จะขาดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

ย้อนกลับไปช่วงเดือนตุลาคม 2547 เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูเว หมู่5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน โดยกล่าวหาว่า ชรบ. ทั้ง 6 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบ 


วันที่ 25 ตุลาคม 2547 กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอําเภอตากใบ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการคุมขังประชาชน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินและพยายามจะบุกสถานีตำรวจ กองกำลังความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงตอบโต้ มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,370 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อนำตัวสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร 


ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง คนจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกายทุบตี และถูกนำตัวผู้ชุมนุมวางซ้อนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุกจนมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย 


ในปี 2552 ผลการชันสูตรพลิกศพระบุว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการถือศีลอดของชาวมุสลิมและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในระหว่างที่มีการควบคุมผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหาร-น้ำ และไตวายเฉียบพลันที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร


จากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีใด ๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 โดยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ เพราะคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและใกล้จะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่าในขณะนี้ไม่พบสำนวนคดี จึงไม่สามารถดำเนินการต่อในทางกฎหมายได้ ท้ายที่สุดทาง กมธ. มีมติทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทำการเร่งรัดความคืบหน้าของคดีนี้ โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาติดตามสำนวนภายใน 30 วันนับจากวันที่ประชุม 


วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตํารวจภูธรหนองจิก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจํานวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส หลังศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นได้มีการประทับรับฟ้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 โดยนัดสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยจำเลยทั้ง 9 คน มีดังนี้


จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 

จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 

จำเลยที่ 3 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5

จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ

จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับการ สภ.ตากใบ 

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส


ท้ายที่สุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิจารณาแล้วเห็นว่า พล.อ.พิศาล เป็น สส. ซึ่งไม่มาตามนัดศาล และก็ไม่ปรากฎว่า พล.อ.พิศาล ได้เข้าร่วมการประชุมสภา ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เท่ากับว่าจำเลยทั้งหมดถูกออกหมายจับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการจับกุมตัวเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ทันก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุ


คดีสลายม็อบตากใบแยกออกเป็น 2 สำนวน คดีแรก ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ยื่นฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย ศาลออกหมายจับ 7 คน ด้ังนี้


จำเลยที่1 พล.อ.พิศาล อดีต มทภ.4 

จำเลยที่ 3 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศปก.ตร.สน. 

จำเลยที่ 4 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผบช.ภ.9 

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ 

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรอง ผอ.กอสส.จชต. และอดีตรองปลัดฯมหาดไทย

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส 


ส่วน จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีต รอง มทภ.4 และ จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรอง ผกก.สภ.ตากใบ ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง


ล่าสุด เมื่อ 14 ต.ค. 2567 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยระบุในหนังสือลาออกว่าไม่ต้องการให้เรื่องคดีของตนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือผูกโยงให้พรรคได้รับผลกระทบ รวมทั้งระบุว่าเมื่ออาการป่วยทุเลาลงแล้ว


นอกจากคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสแล้ว ยังมีอีกคดีที่ศาลจังหวัดปัตตานี เป็นสำนวนคดีจาก สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต 78 ราย ที่ขาดอากาศหายใจจากการโดนลำเลียงใส่รถบรรทุกทหาร ศาลจังหวัดปัตตานีจึงตั้งข้อหา ผู้ควบคุม และพลขับ รวม 8 คน ประกอบด้วย


1. พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬเพชร ผู้ควบคุม

2. ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ

3. นายวิษณุ เลิศสงคราม พลขับ

4. ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร พลขับ

5. นายปิติ ญาณแก้ว พลขับ

6. พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ

7.พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ พลขับ

8.ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ควบคุมขบวนรถ


ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีใดคดีหนึ่งไม่ได้มามอบตัวตามหมายจับ ถูกจับกุม หรือถูกส่งตัวไปยังศาลได้ทันเวลา ทั้งสองคดีก็จะหมดอายุความทันทีและโอกาสในการแสวงหาความยุติธรรมจากรัฐก็จะสิ้นสุดลงเช่นกันสำหรับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บก็จะสิ้นสุดลงโดยขาดความเป็นธรรมต่อไป


อ้างอิง: https://www.ilaw.or.th/articles/45135

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง